AIS Business ผนึกกำลัง รพ.วิมุต สร้างต้นแบบ Smart Hospital สร้างความยั่งยืนด้วย ศักยภาพโครงข่าย 5G โซลูชัน และดิจิทัล เซอร์วิส

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญกับทุกอุตสาหกรรม และหนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (Healthcare) ยิ่งในยุคหลังสถานการณ์โควิด-19 โรงพยาบาลถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ในการดูแลประชาชนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป AIS Business หนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชันดิจิทัลสำหรับองค์กร วันนี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทรานส์ฟอร์เมชันในอุตสาหกรรมดังกล่าว ผ่านการสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลวิมุต โดยนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานภายในโรงพยาบาลทั้งระบบเพื่อร่วมกันสร้างต้นแบบสู่การเป็น Smart Hospital

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวว่า โจทย์ของโรงพยาบาลวิมุตคือการเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ยุ่งยากให้ง่าย คนไข้ได้รับประสบการณ์การรักษาที่ดี และจะต้องทำให้บริการของโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงได้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในเมือง หรือพื้นที่ห่างไกลในต่างจังหวัดที่ต้องติดตามอาการ แต่ไม่สะดวกเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาล ก็สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย สำหรับคนไข้ชาวต่างชาติที่จะต้องบินเข้ามารักษาตัวที่ประเทศไทย ก็สามารถใช้เทคโนโลยีติดตามคนไข้กลุ่มนี้ได้ถึงแม้จะกลับประเทศไปแล้ว

AIS โดย AIS Business ในฐานะผู้นำด้านบริการโซลูชันดิจิทัล จึงได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลวิมุตอย่างใกล้ชิด นำความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อออกแบบและพัฒนาบริการร่วมกันในทุกขั้นตอน ผสานระหว่าง Physical กับ Digital เข้าด้วยกัน ให้เกิดประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ AIS Business ได้นำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาให้บริการไอซีทีแบบครบวงจร ซึ่งประกอบไปด้วย

  • Turnkey IT Solutions นับเป็นครั้งแรกที่ AIS ใช้ศักยภาพด้านโครงข่ายและผสานความสามารถร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเข้าไปให้บริการได้แบบครบวงจร
  • การวางระบบงานด้าน ICT การจัดการฐานข้อมูลหรือ Data Center ระบบสื่อสารและอุปกรณ์ไอที
  • Managed IT Services การให้บริการอย่างครบวงจรด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปสนับสนุน พร้อมให้คำแนะนำช่วยเหลือ และดูแลระบบการใช้งานตลอดเวลา
  • Digital Services การออกแบบแอพลิเคชันสำหรับโรงพยาบาลวิมุต รวมถึงระบบเพื่อให้บริการวัคซีน และบริการที่ช่วยยกระดับการทำงานทางการแพทย์ อย่างระบบเทเลเมดดิซีน เพื่อให้คนไข้หรือผู้รับบริการได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ในการรักษา
  • Cloud Contact Center ระบบการสื่อสารภายในที่ช่วยเชื่อมต่อการทำงานของส่วนต่างๆ ทั้งในแง่ของการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการบริหารจัดการ

“AIS เราเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เรามีเทคโนโลยีระดับโลก แต่เทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่สามารถนำมาใช้ ซึ่ง Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากในประเทศไทย และยังมีช่องทางในการเติบโตอีกมาก เราจะต้องสร้างความแตกต่างให้กับอุตสาหกรรม Healthcare ในประเทศไทย ให้ชาวต่างชาติต้องบินมาที่ประเทศไทยเพื่อมารักษาตัว” นายธนพงษ์ กล่าวเสริม

ด้าน นพ.สันติ เอื้อนรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวถึงความร่วมมือกับ AIS ว่า “โรงพยาบาลวิมุต เป็นโรงพยาบาลที่เปิดมาได้เพียง 1 ปี มีเป้าหมายสู่การเป็น Smart Hospital เป็นแพลตฟอร์มที่มากกว่าโรงพยาบาลตั้งแต่วันแรก จึงต้องหาดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการทำงาน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวที่นำเอาไอซีทีมาดูแลทั้งระบบ เข้ามาช่วยให้การทำงานเกิดประสิทธิผลอย่างชัดเจนใน 3 ด้าน คือ

  1. ลดภาระบุคลากร เช่นการที่มีเอกสารจำนวนมาก หรือจะต้องเซ็นเอกสารจำนวนมาก ก็เปลี่ยนใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี
  2. เพิ่มความปลอดภัยคนไข้  เช่นระบุตัวคนไข้ถูกต้อง ถูกอาการ  ทำได้ง่าย  มีความแม่นยำ
  3. เพิ่มประสบการณ์ลูกค้า ที่มีบริการอื่น ๆ อย่างหลากหลายเข้าถึงได้ง่าย  มีความเชื่อมั่นหรือมั่นใจ เข้าใช้ได้ง่ายทุกระดับ

“มากไปกว่านั้นความร่วมมือครั้งนี้ ยังสามารถตอบโจทย์หลักการ 4 ข้อที่ทางโรงพยาบาลยืดเป็นภารกิจในการดำเนินงาน คือ 1. Available พร้อมรับคนไข้ตลอด 24 ชม. ไม่มีวันหยุด พร้อมรับผู้ป่วยทุกโรค 2. Accessible สามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล 3.Assured โรงพยาบาลต้องมีมาตรฐาน และ 4.Affordable ค่าใช้จ่ายเข้าถึงได้” นพ.สันติ กล่าวเสริม

“โจทย์ของการพัฒนาโรงพยาบาลวิมุตคือ การทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้ต้องชื่นชมทางโรงพยาบาลวิมุต ที่มีความตั้งใจและทำงานร่วมกันตั้งแต่วันแรกจนโครงการสำเร็จออกมาได้ เรามั่นใจว่าในอนาคตจะเกิดการต่อยอดบริการใหม่ๆ Use Case ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พัฒนาบริการที่เข้ามาตอบโจทย์ทั้งโรงพยาบาล และคนไข้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็น Metaverse เข้ามาให้บริการทางการแพทย์” นายธนพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย