อว. ลุย สกลนคร หนองคาย เปิดมหกรรมสินค้า U2T for BCG นำผลผลิตชุมชนออกสู่ตลาดผู้บริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาการว่างงาน

“ผลิตแล้วต้องขายได้…” คำกล่าวของ “มิสเตอร์ U2T” ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระหว่างลงสำรวจพื้นที่การผลิตสินค้าชุมชนในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือ โครงการ U2T โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Science Park, คลินิกเทคโนโลยี ผู้ผลิตสินค้าระดับโอทอป (OTOP) และ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา หรือ University Business Incubator : UBI นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคำปรึกษาและพัฒนาแล้วกว่า 15,000 ชนิด พร้อมออกสู่ตลาดผู้บริโภค

“มิสเตอร์ U2T” ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ด้วยเหตุนี้ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ และคณะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ใช้งบประมาณปี 2566 ที่ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการโดยมหาวิทยาลัยเป็น System Integrator จัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน พร้อมกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา มีงานทำในบ้านเกิดของตนเอง ส่งเสริมการตลาดและขายสินค้าทั้ง online/offline ผลักดันให้จำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ โดย อว. เป็นผู้พัฒนาระบบ ในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม (Platform) ที่สำคัญมีการจัดทำข้อมูล Thailand Community Data (TCD) ให้สมบูรณ์ครบทุกพื้นที่ รวมถึงการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD ให้ผู้สนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนระดับตำบล เข้าสู่ระบบการจัดจำหน่ายจริง

ดร. ดนุช ลงพื้นที่ ดูการส่งเสริม จ.หนองคาย

โครงการ ส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG จึงเกิดขึ้น ประเดิมนำร่องลุย 4 จังหวัดภาคอีสาน เริ่มที่ หนองคาย สกลนคร กาฬสินธุ์ และ ร้อยเอ็ด ตามลำดับ พร้อมจัดแสดงสินค้า U2T ในรูปโฉมใหม่ จากสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่วางขายแค่ในชุมชน สู่การวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรืองานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ได้ทั่วประเทศ ด้วยคุณภาพสินค้าที่ได้รับการพัฒนาสูตร และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามมาแล้ว

ในการนี้ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานเปิดโครงการ ส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมการตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือ โครงการ U2T มีสินค้าชุมชนจำนวนมากที่ได้รับการพัฒนา เมื่อมีสินค้าดีแต่จำหน่ายอย่างไรให้เข้าถึงผู้บริโภคครอบคลุมทุกพื้นที่ นี่คือสิ่งที่ อว. ต้องทำต่อ

ซึ่งการจัดแสดงสินค้าออกสู่ตลาดผู้บริโภคเป็นการขยายโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคบริการ จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อเราเข้าไปพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าในรูปแบบต่างๆ แล้ว เราต้องให้ความรู้ในการจัดจำหน่ายด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ สร้างความเข้าใจและปรับตัวในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับ BCG

ดร.ดนุช ลงพื้นที่ ดูการส่งเสริม จ.สกลนคร

โดยครั้งนี้ อว. ผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ Science Park, คลินิกเทคโนโลยี ผู้ผลิตสินค้าระดับโอทอป (OTOP) และหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา หรือ University Business Incubator : UBI เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ U2T อย่างเต็มที่ ถือเป็นการโชว์สินค้า แชร์เทคโนโลยี และนำไปต่อยอดต่อไปได้ สินค้าภายใต้โครงการ U2T FOR BCG ซึ่งชาวบ้านได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากทางมหาวิทยาลัยไปปรับใช้จริง มีการอบรม สาธิตการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายสินค้า

โดยงานแสดงสินค้าเหล่านี้จัดขึ้นในจังหวัดเป้าหมายหลัก ตลอดเดือน มกราคม – มีนาคม 2566 กระจายในทุกภาคทั่วประเทศ และเพิ่มศักยภาพการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ด้วย โดยลงพื้นที่ไปให้ความรู้อย่างเป็นระบบ วิธีการเพิ่มช่องทางการขายในออนไลน์ สอนสร้างเพจจำหน่ายสินค้าใน Facebook, Instagram, Tiktok สอนการ Live ขายสินค้า ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำเงินได้ไม่ยากและสนุก

จุดนี้คือสายสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกร หรือผู้ประกอบการรุ่นเก่ากับลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญญาบัณฑิตจบใหม่ ไม่มีงานทำได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่ประเทศ ผมจะพลักดันให้โครงการ U2T ได้อยู่กับพี่น้องประชาชนต่อไปทุกยุคทุกสมัย หากพัฒนาอย่างสม่ำเสมอก็จะเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน และสร้างผู้ประกอบการมืออาชีพได้ตลอดไป

สุดท้ายผมฝากถึงพี่น้องประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการทั่วประเทศ เรามีหน่วยงานหลักสำหรับให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอยู่ในทุกมหาวิทยาลัย ทั้งคลินิกเทคโนโลยี, Science Park/ OTOP และ UBI หากท่านมีความสนใจหรือต้องการพัฒนาสินค้าต่างๆ สามารถติดต่อไปได้ที่ มหาวิทยาลัย ใกล้บ้าน เราให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การตลาด การจัดการ เพื่อต่อยอด อว. ไม่ได้ห่างเหินจากประชาชน แต่เราลงพื้นที่ ดูแลและเป็นกองหนุนให้กับทุกกระทรวง หวังว่าพี่น้องประชาชนจะได้ใช้โครงสร้างของเราในการทำงานอย่างยั่งยืน สร้างชีวิตใหม่ สร้างผู้ประกอบการมืออาชีพในแต่ละตำบล และทำให้เกิดการสานต่อผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม” ดร. ดนุช ตันเทอดทิตย์ กล่าวปิดท้าย