เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ปี 2565 สู้วิกฤติพลังงานพุ่ง ปิโตรเคมีขาลง เร่งธุรกิจกรีนตอบเมกะเทรนด์โลก คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น มั่นใจเสถียรภาพการเงินมั่นคง

กรุงเทพฯ : 26 มกราคม 2566 – เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2565 ยอดขายเพิ่ม กำไรลดลง จากต้นทุนพลังงานสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว วัฏจักรปิโตรเคมีขาลง เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ มุ่งสินค้ากรีน ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น สร้างการเติบโตต่อเนื่อง กลุ่มพลังงานสะอาดโต 78% พลาสติกรักษ์โลกยอดขายกว่า 140,000 ตัน ขยายตัวกว่า 5 เท่า – โซลูชันประหยัดพลังงานบวกรับตลาด 40% –พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร ล่าสุด LSP พร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าสู่ตลาด กลางปี 2566 มั่นใจการเงินมั่นคง จากการรักษาสภาพคล่องอย่างเคร่งครัด มุ่งลดต้นทุน ลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ผลประกอบการเอสซีจีปี 2565 มีรายได้ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 กำไร 21,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 สาเหตุจากเศรษฐกิจชะลอตัว ปิโตรเคมีขาลง ต้นทุนพลังงานสูง ในขณะที่ ไตรมาส 4 ปี 2565 มีกำไร 157 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไร 1,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66 จากไตรมาสก่อน ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากวิกฤติซ้อนวิกฤติ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี แต่เอสซีจีได้เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรับตัวฉับไวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจโดยรวม โดยมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง ลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต พิจารณาการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ ส่งผลให้เงินสดคงเหลือแข็งแกร่งอยู่ที่ 95,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ความท้าทายที่ผ่านมาก็เอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจ โดยเฉพาะความต้องการสินค้ากรีน ซึ่งเป็นทิศทางสำคัญของโลกและมีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มพลังงานสะอาด พลาสติกรักษ์โลก โซลูชันประหยัดพลังงาน บรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร โดยในปี 2565 ยอดขาย SCG Green Choice เติบโตโดดเด่นร้อยละ 34 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือมียอดขายรวม ร้อยละ 51 ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีพร้อมเร่งเดินหน้าเต็มที่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาคึกคัก ขณะที่ตลาดอาเซียนปรับตัวขึ้นตามการเปิดประเทศของจีน ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลงหลังจากช่วงฤดูหนาว และเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เอสซีจีเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านวิกฤติในครั้งนี้ และตอบความต้องการใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี”

ติดตั้งระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid ที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “จากวิกฤติต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เอสซีจีจึงรุกธุรกิจพลังงานสะอาด  โดยมีขนาดกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากปีก่อน ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง เชื่อมโยงพลังงานสะอาดระหว่าง 10 บริษัท ช่วยลดต้นทุนพลังงาน ร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งธุรกิจนี้ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดของเอสซีจี เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยปี 2565 เอสซีจีเพิ่มสัดส่วนใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 26 ในปีก่อน และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 130 เมกะวัตต์ในปีก่อน ขณะเดียวกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization – CCU) จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 โดยร่วมกับ นิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง และ ไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น”

คราส (Kras) ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM ต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดโลก มียอดขายกว่า 140,000 ตัน เติบโตกว่า 5 เท่า ในปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร โดยลงนามซื้อกิจการของ คราส (Kras) / Recycling Holding Volendam B.V. ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจฯ ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ครอบคลุมภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งนี้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจาก SCGC ได้รับมาตรฐานสากลจากหลายองค์กรชั้นนำระดับโลก อาทิ EuCertPlast จากยุโรป ซึ่งรับรองแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลว่ามาจากพลาสติกใช้แล้ว ช่วยลดปัญหาขยะ และมาตรฐาน Recyclass จากการพัฒนาสารเคลือบชั้นฟิล์มที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลให้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ถือเป็นรายแรกในอาเซียน

บริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด โครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม

ขณะเดียวกัน บริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (Long Son Petrochemicals Company Limited – LSP) โครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม คืบหน้ากว่าร้อยละ 98 พร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดกลางปีนี้”

SCG Air Scrubber นวัตกรรมประหยัดพลังงานระดับโลก ช่วยประหยัดพลังงาน 20-30%

นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี เร่งผลักดันธุรกิจสมาร์ท ลิฟวิ่ง โดยเฉพาะโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและค่าไฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงค่าไฟปรับตัวสูง โดยในปี 2565 เติบโตกว่าร้อยละ 40 อาทิ  “SCG Air Scrubber” นวัตกรรมประหยัดพลังงานระดับโลก สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุม หรือห้างสรรพสินค้า มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 20-30 ติดตั้งแล้ว 7 อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า Terminal 21 สาขาพัทยา, Kloud by Kbank สยามสแควร์  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จึงจะมีโครงการลงทุนขยายรุ่นสินค้าตามความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น

SCG Built-in Solar Tile นวัตกรรมแผงโซลาร์ ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟได้ 60%

นอกจากนี้ได้พัฒนา “SCG Built-in Solar Tile” นวัตกรรมแผงโซลาร์สำหรับบ้านสไตล์โมเดิร์น ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟได้ร้อยละ 60”

ALMIND by SCGP มีส่วนผสมของนาโนเซลลูโลสช่วยทำให้ผิวสัมผัสชุ่มชื้น

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า “SCGP กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันบรรจุภัณฑ์ ตั้งงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2566 รวม 800 ล้านบาท โดยพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต รวมถึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สู่การปลูกพืชและสมุนไพรมูลค่าสูง ตลอดจนมุ่งพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “เทคโนโลยี Torrefaction” เพื่อใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสริมการดำเนินงานด้าน ESG”

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 21,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลง ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 23,270 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 จากปีก่อน

สำหรับไตรมาส 4 ปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 122,190 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากราคาและปริมาณขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 157 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 94 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงประกอบกับต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66 จากไตรมาสก่อน

เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ปี 2565 อยู่ที่ 195,520  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) คิดเป็นร้อยละ 17 และ Service Solutions คิดเป็นร้อยละ 6 ของยอดขายรวมรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2565 ทั้งสิ้น  257,880  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 906,490 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)

ผลการดำเนินงานในปี 2565 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

  • ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) มีรายได้จากการขาย 236,587 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากปีก่อน เนื่องจากราคาและปริมาณขายสินค้าที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับปี 5,901 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 80 จากปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาขายสินค้าและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 43,285 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายสินค้าปรับตัวลดลง โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 1,052 ล้านบาท สาเหตุจากส่วนต่างราคาขายสินค้าลดลง  
  • ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 204,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 3,789 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย
    49,265  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลยุทธ์การปรับราคาขายสินค้าส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและในภูมิภาค โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 717 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่รวมรายการด้อยค่าสินทรัพย์และรายการสำคัญ (Key Items) จะมีขาดทุนสำหรับงวดอยู่ที่ 157 ล้านบาท สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบรวมทั้งพลังงานที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • SCGP มีรายได้จากการขายเท่ากับ 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&P) และการขยายกำลังการผลิต (Organic expansion) โดยมีกำไรสำหรับปี 5,801 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และการหดตัวของปริมาณการขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ท่ามกลางอุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลก ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 33,509 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายที่ลดลงตามความต้องการที่ชะลอตัวลงทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก และมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 450 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณและราคาขายที่ลดลงของกระดาษบรรจุภัณฑ์”
เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ปี 2565 สู้วิกฤติพลังงานพุ่ง ปิโตรเคมีขาลง เร่งธุรกิจกรีนตอบเมกะเทรนด์โลก คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น มั่นใจเสถียรภาพการเงินมั่นคง

นายรุ่งโรจน์ กล่าวปิดท้ายว่า “ในปีนี้ เอสซีจี ยังคงมุ่งรักษาความมั่นคงทางการเงินและสภาพคล่อง ลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ รัดเข็มขัด รวมทั้งลดต้นทุนพลังงาน ขณะเดียวกัน เร่งเดินหน้าธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ลงทุนในนวัตกรรม คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น สร้างโซลูชันรองรับเมกะเทรนด์โลก เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ซึ่งตลาดในภูมิภาคเริ่มฟื้นและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ เอสซีจี พร้อมช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคม โดยปี 2565 สร้างอาชีพให้ผู้ที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรวม 9,000 คน ให้มีรายได้ ลดเหลื่อมล้ำในสังคม”

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 8.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 9,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 6.0 บาท เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 2.0 บาท

การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 10 เมษายน 2566 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 7 เมษายน 2566) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 เมษายน 2566 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี