“นฤมิตไพรด์” สะบัดธงบนถนนสีรุ้งแห่งความหมาย ในงาน “Bangkok Pride 2023” ตอกย้ำความปัง พลังจาก LGBTQIAN+ คนนับแสนสร้างสีสันอย่างสร้างสรรค์
ยานแม่ลงจอดพร้อมทำให้มองจนต้องเหลียวหลัง ไปกับความแซ่บและสีสันเกินบรรยาย ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month ปี 2023 ที่สุด ปัง อลังเวอร์ เพราะไม่ได้มาเล่นๆ จัดเต็มอย่างอลังการ โดย บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด จับมือ กรุงเทพมหานคร พร้อมองค์กรสิทธิเพศหลากหลายกว่า 30 องค์กร จัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023)” เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ภายใต้แนวคิด “Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศใดที่ คุณอยากก้าวข้าม” โดยปิดถนนเดินขบวนอย่างสร้างสรรค์ทั้งสิ้น 6 ขบวน จากแนวคิด “สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ well-being)” การมีสุขภาวะที่ดีสำคัญต่อคุณภาพชีวิต เริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามวัน จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, คุณแพรทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย รวมถึง คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยชาว LGBTQIAN+ นับแสนคน และศิลปิน ดารามากมาย อาทิ เกรซ-กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า, มดดำ-คชาภา ตันเจริญ, เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ, ทราย- อินทิรา เจริญปุระ, ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร, เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ, ต๋อง-ธนายุทธ ฐากุณอรรถยา, ต้น-ธนษิต จตุรภุช, Miss Grand Thailand นำโดย ฟ้า-อิงฟ้า วราหะ, ชาล็อต ออสติน และ อุ้ม-ทวีพร พริ้งจำรัส, หลิน-มชณต สุวรรณมาศ, นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต, นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ, กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, คุณชายอดัม หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล, เอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ รวมถึง Influencer หมอแล็บแพนด้า, เบ๊น อาปาเช่, กัน จอมพลัง, สิตางค์, หญิงลี, กลุ่ม Powerpuff Gay, เปอโชต์ และปันปัน Drag Race ที่มาร่วมสร้างสีสันในงาน ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัย
“วาดดาว – ชุมาพร แต่งเกลี้ยง” ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวถึง การจัดงาน บางกอกไพรด์ 2023 ในครั้งนี้ว่า “ในฐานะนักจัดกิจกรรมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมแรง ร่วมใจเพื่อให้งานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความเท่าเทียม การจัดงานในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเฉลิมฉลองเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งต่อความรัก รวมทั้งพลังให้กันและกัน พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นว่าชาว LGBTQIAN+ ซึ่งประกอบอาชีพที่หลากหลาย สามารถที่จะช่วยเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ด้วยความสามารถ ศักยภาพที่มีในการทำงาน ไม่เพียง LGBTQIAN+ คนไทยที่มารวมตัวเฉลิมฉลองด้วยกัน ในครั้งนี้ยังมีตัวแทนผู้ที่เคยจัดงานระดับโลกอย่าง World Pride ทั้ง อินเดีย แคนนาดา เซี่ยงไฮ้ ออสเตรเลีย อัมสเตอร์ดัม และอเมริกา มาร่วมเดินขบวนและฉลองที่ประเทศไทยในครั้งนี้ด้วย”
เวลาของความสนุกเริ่มขึ้นเมื่อเสียงของนักร้องมากความสามารถ “เก่ง ธชย” ดังขึ้นพร้อมด้วยกลองสะบัดชัย ที่ดังกังวานใจกลางกรุง กึกก้องตามมาด้วยเสียงจากเครื่องดนตรีวงโยธวาทิตกว่า 150 ชีวิต ที่มาร่วมบรรเลงดนตรี และแปลอักษรเป็นระยะ รวมถึงมีพื้นที่ให้ได้โชว์ความสามารถ สร้างความบันเทิงได้อย่างสุดเหวี่ยงหน้าบริเวณสยามพารากอน โดยมีเวทีสำหรับดีเจ มาร่วมสร้างสีสันและความมันส์ให้มากขึ้นกว่าเดิม
พร้อมด้วยความสวยงามของธงสีรุ้ง ซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทย ยาว 144.8 เมตร โดยเป็นตัวเลขที่มีความหมายจากการเรียกร้องเพื่อต้องการให้เกิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 1448 สมรสเท่าเทียม ที่โบกสะบัดมาตั้งแต่เริ่มต้นขบวน พร้อมให้เหล่า LGBTQIAN+ ได้มาร่วมเดินเคียงข้างธงสีรุ้งไปด้วยกันตลอดเส้นทาง นอกจากนี้เมื่อขบวนเดินผ่านวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ได้หยุดรำลึกถึงเพื่อนชาว LGBTQIAN+ ที่จากไป เพื่อให้ตระหนักถึงการต่อสู้ในด้านความเท่าเทียม และ หวังให้ปัญหานี้ได้ยุติเสียที
สำหรับขบวนพาเหรดจัดเต็มชนิดที่ทุกคนต่างครีเอทมาแบบอลังการเพื่อการเฉลิมฉลองในครั้งนี้ โดยมี 6 ทูตนฤมิตไพรด์ ที่เป็นตัวแทนในการสื่อสาร และกระบอกเสียงของชาวสีรุ้ง
ออกสตาร์ทความปังตั้งแต่ ขบวนแรก Community (ชุมชน) มาพร้อมกับความจึ้งอย่างที่สุดของ Drag Queen ที่ตัดชุดใหม่ เมคอัพจัดเต็ม เพื่อมาเฉลิมฉลองด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวกันที่เยอะที่สุด โดยภายในขบวนหยิบยกประเด็น Gender X มาพูดถึง เพื่อนำเสนอความต้องการด้านสิทธิการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่รวมไปถึงกลุ่ม Intersex Trans และ Non-binary ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย โดยมีการนำเพลง POP เข้ามาสร้างสีสันในขบวน
คอสตูมจัดเต็มไม่แพ้ขบวนแรก เมื่อทีมคาบาเร่ยกขนนกมาโบกสะบัดร่วมเดินใน ขบวนที่ 2 Purpose (เจตน์จำนง) และต้องการสะท้อนถึง My Body my Choice รณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับพนักงานบริการและ Sex creator รวมถึงการสนับสนุนเซ็กซ์ทอย (sexual wellness product) ให้ถูกกฎหมาย สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและ Consent ในโรงเรียน และรณรงค์สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเพื่อยุติวัฒนธรรมการข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว โดยนำแนวเพลง HIPHOP RAP มาร่วมแสดงในขบวน และเสริมสีสันด้วยกองสันทนาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ม่วนมาแต่ไกล เซิ้งกันสนุกต้องหลีกทางให้เพลงหมอลำ ที่นำโดยนางงามจากเวที Miss Grand Thailand อย่าง อิงฟ้า วราหะ, ชาล็อต ออสติน และ อุ้ม ทวีพร ในขบวนที่ 3 Relationship (ความสัมพันธ์) พร้อมมีคู่รักที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน ร่วมขบวนเพื่อแสดงถึงพลังของความรัก และต้องการสะท้อนถึงเรื่อง Chosen Family เพื่อรณรงค์ให้สังคมเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายของความสัมพันธ์และครอบครัว เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวในกฎหมายสมรสเท่าเทียมและรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือได้ว่าขบวนนี้เป็นการรวมตัวของคู่รัก LGBTQIAN+ ที่เยอะที่สุดก็ว่าได้
โดย ขบวนที่ 4 Environment (สิ่งแวดล้อม) เพลิดเพลินไปกับเสียงร้องจาก Bangkok Gay Men’s Chorus คณะประสานเสียงเกย์ชายวงแรกของประเทศไทย ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของชุมชน LGBTQIAN+ พร้อมด้วยการรณรงค์ถึง Peace & Earth เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ทุกเพศ โดยนำเพลง JAZZ BLUE สร้างสรรค์ร่วมกับขบวนพาเหรด และนกสีขาวที่นำมาปล่อย เพื่อสื่อถึงความสันติภาพ
ทัพนักแสดง ดาราในวงการบันเทิง พร้อมใจกันมาร่วมเดินขบวนเพื่อสร้างสีสันและเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลอง ในขบวนที่ 5 Health (สุขภาพ) ที่สะท้อนไปยังการเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม (Equal Rights to Health) โดยต้องการรณรงค์สิทธิในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์สำหรับทุกเพศ และเรียกร้องสวัสดิการ การยืนยันเพศ (gender-affirming care) สำหรับบุคคลข้ามเพศ นำเสนอผ่านแนวเพลง K-POP, T-POP และ J-POP
ปิดท้ายด้วยขบวนที่ได้รับความสนใจใน ขบวนที่ 6 Security (ความปลอดภัย) โดยได้รับเกียรติจาก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, คุณแพรทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย, คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานราชการ ร่วมเดินขบวน โดยขบวนนี้บอกเล่าถึง I’m Home โดยมีแนวคิดหลักเพื่อการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสงบปลอดภัยจากทุกภาคส่วน รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล และรณรงค์ให้มีการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ โดยมาพร้อมแนวเพลง ROCK
สิ้นสุดขบวน แต่ความสนุกยังไม่จบ รันต่อที่กิจกรรมบนเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เต็มอิ่มด้วยสีสันมหกรรมความบันเทิงผ่านคอนเสิร์ต และแฟชั่นโชว์จาก Drag Queen ที่ทำให้ทึ่ง และภูมิใจในความยืนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์จาก LGBTQIAN+
ความเริ่ด ความปัง สำหรับการเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIAN+ ได้แสดงออกถึงตัวตนและศักยภาพที่น่าค้นหาผ่านการจัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023)” เป็นอีกหนึ่งพลังที่แสดงให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลัง พร้อมส่งต่อการจัดงานไพรด์ทั่วประเทศไทยอีกมากกว่า 22 ครั้ง ใน 12 จังหวัด เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับ LGBTQIAN+ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง
โดยความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนฤมิตไพรด์ที่เป็นผู้จัดงาน พร้อมมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride 2028 เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถฉลองความไพรด์ได้ตลอดทั้งปี