“ตามรอยขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง” ประกวดเดี่ยวระนาดสุดยิ่งใหญ่ ประวัติศาสตร์ดนตรีไทยจะถูกบันทึกขึ้นอีกครั้ง!
สวธ.ชวนย้อนวันวานชม “โหมโรง” ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย ด้าน “ขุนอิน” ท้าให้เยาวชนจับไม้ไล่ระนาด “ตามรอยขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง” ประชันชั้นเชิงระนาด ชิงเงินรางวัลรวมสูงสุดกว่าหนึ่งแสนบาท พร้อมเข็มขัดแชมป์ ปูทางสู่มือระนาดอาชีพ
เสียงระนาดจะก้องกังวานสะกดใจอีกครั้ง เมื่อโครงการ “ตามรอยขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง” ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีบุคคลสำคัญในแวดวงดนตรีไทย และนักแสดงนำจากภาพยนตร์โหมโรง รวมทั้งผู้สนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน จับมือกันเพื่อรำลึกถึงภาพยนตร์ที่สร้างตำนานดนตรีไทยและส่งเสริมให้เยาวชนที่มีใจรักดนตรีไทย ได้มีเวทีแสดงความสามารถ
โดยในช่วงเช้า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดฉายภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2547 ให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีไทย และได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของหลวงประดิษฐไพเราะ
ต่อด้วยการเสวนาเรื่อง “20 ปี ภาพยนตร์โหมโรง” โดยมีผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ อาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก เลขาธิการ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ, อาจารย์ขุนอิน ณรงค์โตสง่า และโอ อนุชิต สพันธุ์พงษ, ลูกปู ดอกสะเดา และ ว่าน ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง นักแสดงในบท “เทิด” เพื่อย้อนปรากฏการณ์ที่ปลุกให้คนไทยหันมานิยมดนตรีไทย
ส่วนภาคบ่าย เป็นการแถลงข่าว “ตามรอยขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง” เปิดงานด้วยการแสดงประชันระนาดเอกเชิดต่อตัว โดยลูกศิษย์อาจารย์ขุนอิน เรียกเสียงปรบมือกึกก้องหอประชุมเล็ก จากนั้นได้เชิญผู้เกี่ยวข้องขึ้นมาร่วมพูดคุยบนเวที ได้แก่ นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, อาจารย์ขุนอิน ณรงค์โตสง่า ผู้บริหาร บริษัทขุนอิน โชว์ จำกัด นายวีระพล มงคลพูนเกษม ผู้บริหาร เคเค ริเวอร์ไซด์รีสอร์ท แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และนายประณัย สายชมภู กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด (เพ ลา เพลิน เดอะ เจอร์นีย์ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี) ผู้สนับสนุนเงินรางวัล
อาจารย์ขุนอิน ณรงค์โตสง่า กล่าวในฐานะคนต้นคิดโครงการว่า เพื่อเป็นการระลึกถึงภาพยนต์เรื่องโหมโรงที่มีอายุครบ 20 พร้อมๆ กับอยากกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนที่ตีระนาดเอกได้มีการตื่นตัวมากขึ้น มีการฝึกซ้อมมากขึ้นกว่าเดิม อีกเหตุผลสำคัญคือเป็นการยกระดับการประกวดระนาดเอกด้วย
“ปัจจุบันการประกวดดนตรีไทยมีการจัดกันอย่างเเพร่หลายก็จริง เเต่การประกวดในเเต่ละสถาบันจะไม่มีค่าใชัจ่าย หรือเงินรางวัลให้เเก่เด็ก แต่การประกวดครั้งนี้จะมีรางวัลชนะเลิศให้กับเด็กสูงถึงห้าหมื่นบาท ถือว่าเป็นเงินรางวัลสูงสุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีเข็มขัดแชมป์ให้กับผู้ชนะเลิศ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวงการดนตรีไทยครับ”
ซึ่งกิจกรรมนี้ ตรงกับแนวคิดของ นายวีระพล มงคลพูนเกษม ผู้บริหาร KK Riverside Resort แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่มีความรักดนตรีไทย และต้องการสนับสนุนเยาวชนไทยให้หันมาสนใจดนตรีไทยมากขึ้น จึงให้งบประมาณและเงินรางวัลสนับสนุนการจัดในครั้งนี้อย่างเต็มที่
“ถ้าพูดถึงการริเริ่มความชอบเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทย ต้องเริ่มจากการที่ผมได้ดูหนังเรื่องโหมโรง ที่ท่านอาจารย์ขุนอินเป็นผู้เล่นครับ การดำเนินเรื่อง ฝีมือในการแข่งขัน การประชันความสามารถของอาจารย์ ทำให้ผมประทับใจมาก และเมื่อตอนผมเด็กๆ ผมก็อยากที่จะมีโอกาสได้ลองเล่นดนตรีไทยบ้าง แต่ด้วยโอกาสในตอนนั้นยังไม่มีคนสนับสนุนหรือให้โอกาสผมครับ ดังนั้นด้วยเหตุผลที่ผมได้ร่วมจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้โอกาสเด็กไทยที่มีฝีมือ หรือมีความสามารถ แต่ยังไม่เคยได้รับโอกาสได้ออกมาแสดงศักยภาพกันให้เต็มที่ เป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้สืบต่อไป ผมว่าการเล่นดนตรีไทยในปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่ความชอบส่วนตัว ก็คงริเริ่มได้ยาก ผมจึงอยากร่วมในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้เข้าถึงศิลปวัฒนธรรมได้ง่ายขึ้น และเพิ่มโอกาสในด้านต่างๆ ให้กับเขาครับ”
ทั้งนี้ นายวีระพล ได้สนับสนุนสถานที่ในการจัดแข่งขัน เงินรางวัลรวม 80,000 บาท และเข็มขัดแชมป์มูลค่า 30,000 บาท พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมหวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นแรงผลักดันเล็กๆ ให้กับวงการดนตรีไทย เพื่อให้ดนตรีไทยยิ่งใหญ่อยู่คู่ประเทศต่อไปครับ”
ด้าน นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานแถลงข่าว การประกวดเดี่ยวระนาดเอก “ตามรอยขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง” ว่า ตามนโยบายรัฐบาลได้มีการผลักดัน THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency โดยการสนับสนุนพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ การเล่นดนตรีไทยเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมทักษะ Soft Power ในมิติทางวัฒนธรรมให้กับเยาวชน กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีภารกิจในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ดนตรีไทยถือเป็นมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญของชาติไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ให้การสนับสนุน โดยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานแถลงข่าว
“เราให้ความอนุเคราะห์เรื่องสถานที่ในการจัดงานครั้งนี้ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอเชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางดนตรีไทย การเล่นระนาดเอก เข้าร่วมโครงการประกวดเดี่ยวระนาดเอก ตามรอยขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรงเพื่อร่วมสืบทอดและรักษาดนตรีไทย ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”
สำหรับการจัดการประกวดครั้งนี้ “ขุนอิน” ย้ำว่า ได้เปิดให้ส่งผลงานทางออนไลน์จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2567 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 10 คน ผ่านทางเพจ Facebook:ตามรอย ขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง ในวันที่ 29 มีนาคม 2567 ส่วนผลรอบชิงชนะเลิศ จะประกาศในวันที่ 6 เมษายน 2567 ณ KK Riverside Resort ที่พัก พูลวิลล่า แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
หลังจากได้ผู้ชนะการคัดเลือกทั้ง 2 สายแล้ว ผู้เข้าประกวดจะต้องบรรเลงประชันต่อหน้าคณะกรรมการอีกครั้ง โดยจับฉลากบรรเลงก่อนหลัง เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะอันดับ 1 ซึ่งผู้ได้รับการตัดสินรางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเข็มขัดแชมป์ และเกียรติบัตร ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวนเงิน 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรางวัลสำหรับผู้เข้ารอบ 8 คน จำนวนเงินคนละ 2,500 บาท พร้อมเกียรติบัตร
สำหรับ กฎ-กติกา และจุดมุ่งหมายของโครงการฯ มีดังนี้
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมศักยภาพและทักษะทางดนตรีไทยของเด็กและเยาวชน
- เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้มีเวทีแสดงความสามารถทางดนตรีต่อสาธารณะชน
- เพื่อค้นหาผู้เป็นเลิศทางด้านดนตรีไทยและแสดงออกถึงความเป็นดนตรีของตัวเองได้ดีที่สุด
ระยะเวลาของการดำเนินโครงการ
- รับสมัคร/ส่งผลงานทางออนไลน์ ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม 2567
- รอบชิงชนะเลิศ วันที่ 6 เมษายน 2567 ณ KK Riverside Resort ที่พัก พูลวิลล่า แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
คุณสมบัติและเงื่อนไขผู้เข้าร่วมประกวด
- ผู้เข้าร่วมประกวดต้องมีอายุตั้งแต่ 15-22 ปี เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษา ทั่วประเทศ พร้อมมีตราประทับในใบสมัครเข้าร่วมประกวดจากสถาบันการศึกษา
- สถาบันการศึกษาสามารถส่งผู้เข้าประกวดเดี่ยวระนาดเอกได้ไม่เกินสถาบันละ 3 คน โดยชื่อที่ส่ง เข้าประกวดแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- ผู้ที่บรรเลงเครื่องประกอบจังหวะ สามารถเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือนักดนตรีอาชีพได้
- บทเพลงที่นำมาประกวด ได้แก่ เพลงสารถี สามชั้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ตอนขึ้นอนุญาตให้ทำทางขยี้ได้ไม่เกิน 1 หน้าทับ
- ท่อนที่ 3 ให้บรรเลงทางพื้นก่อนแล้วค่อยรัวในรอบหลัง
หลักเกณฑ์การประกวด
- รอบคัดเลือก : ผู้เข้าประกวดต้องนำส่งหลักฐาน ดังต่อไปนี้
1.1 ใบสมัครพร้อมลายเซ็นผู้บริหารสถาบันศึกษาลงนามในหนังสือรับรองการเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา
1.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรนักเรียน นิสิต นักศึกษาพร้อมลงชื่อรับรอง
1.3 ส่งไฟล์ VDO การบรรเลงพร้อมแนบไฟล์หลักฐานการสมัครมาทาง QR Code หรือลิงก์ https://forms.gle/yZG8GmFY4Cbg6rUNA ตั้งแต่วันนี้ – 25 มีนาคม 2567 (ไม่อนุญาตให้ตัดต่อภาพ และแต่งเสียงทุกกรณี)
1.4 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 10 คน ผ่านทางเพจ Facebook: ตามรอย ขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง ในวันที่ 29 มีนาคม 2567 - รอบชิงชนะเลิศ
2.1 ผู้เข้าประกวดลงทะเบียนที่ KK Riverside Resort แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในเวลา 14.00-15.00 น. พร้อมนำเอกสารหลักฐาน (ฉบับจริง) นำมาส่งให้ทางผู้จัดการประกวด
2.2 จัดลำดับผู้เข้าประกวดโดยวิธีจับฉลากแบบแบ่งสาย โดยผู้ประกวดบรรเลงต่อหน้าคณะกรรมการ
2.3 เมื่อได้ผู้ชนะการคัดเลือกจากทั้ง 2 สายแล้ว ผู้เข้าประกวดจะต้องบรรเลงต่อหน้า คณะกรรมการอีกครั้ง (ประชัน) โดยจับฉลากบรรเลงก่อนหลังเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ผู้ชนะอันดับ 1 - รางวัลและเกียรติบัตร
3.1 ผู้ลงชื่อสมัครเข้าร่วมประกวดจะได้เกียรติบัตรทุกคน โดยสามารถดาวน์โหลดได้ในเพจ Facebook: ตามรอยขุนอิน ๒๐ ปี โหมโรง ตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2567 เป็นต้นไป- 3.2 รางวัลสำหรับการประกวด
- รางวัลชนะเลิศ พร้อมเกียรติบัตร จำนวนเงิน 50,000 บาท และเข็มขัดแชมป์
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 พร้อมเกียรติบัตร จำนวนเงิน 10,000 บาท
- รางวัลสำหรับผู้เข้ารอบ 8 คน พร้อมเกียรติบัตร จำนวนเงิน 2,500 บาท
#ตามรอยขุนอิน๒๐ปีโหมโรง#ระนาดเอก #บริษัทขุนอินโชว์จำกัด#การประกวดเดี่ยวระนาดเอกครั้งประวัติศาสตร์#เดี่ยวระนาดเอก #เพลงสารถี๓ชั้น#กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #เคเคริเวอร์ไซด์รีสอร์ท#ศูนย์การแพทย์ธนบุรี