วช. ดันผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวา” มทร.ธัญบุรี สู่อุตสาหกรรมแฟชั่น
วันที่ 7 ธันวาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชน ติดตามผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผักตบชวาอุตสาหกรรมแฟชั่น ภายใต้การนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และคณะนักวิจัย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี (มทร.ธัญบุรี) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้กระทรวง อว. ประจำปี 2560 จนสามารถสร้างแบรนด์ผ้าชื่อ “สาคร” และ แบรนด์ “บ้านหัตถศิลป์” อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงแนวคิดในการนำผักตบชวามาพัฒนาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนด้วยว่า นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา สร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี ของใช้ตกแต่งบ้านเรือน กระเป๋าแฟชั่น เป็นต้น ปัจจุบันมีการต่อยอดให้เป็นชุมชนนวัตกรรมต้นแบบ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมชุมชน
โดยคุณลักษณะพิเศษของเส้นใยผักตบชวานั้น ระบายความร้อนได้ดี มีความแข็งแรง สามารถดูแลรักษาง่ายเช่นเดียวกับผ้าเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ มีน้ำหนักเบา รวมทั้งเกิดลวดลายที่มีผิวสัมผัสสวยงามเป็นธรรมชาติ โดยตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เกาหลี หลังจากนี้ก็พร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่องโดยพัฒนาลวดลายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพต่อไป
ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ได้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งจัด โดย วช. ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และเป็นที่น่ายินดีที่โครงการฯ คว้ารางวัล Gold Award โดยได้รับถ้วยรางวัลจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ดร. ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัย ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การออกแบบแฟชั่น วัสดุที่นำมาออกแบบ เนื้อผ้า โครงสร้างผ้า ลายผ้า และวัสดุประกอบ แบบตัดและวิธีการตัดเย็บ มุ่นเน้นการผลิตในระบบอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่คำนึงถึงความถึงความประหยัดและต้นทุนการผลิต ซึ่งการออกแบบแฟชั่นได้รับความร่วมมือจากบริษัทสยามรุ่งเรือง จำกัด จากนั้นนำผักตบชวามาเป็นส่วนประกอบ
สัดส่วนที่ใช้ผสมก็จะมี ผักตบชวา 40% : ฝ้าย 60% หรือไม่ก็จะเป็น ผักตบชวา 20% : ฝ้าย 80% เน้นใช้แค่ 2 ชนิดเส้นใยในการผสม พยายามทำให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เพราะอยากทำเส้นใยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งความแตกต่างของผิวสัมผัสระหว่าง 40% ที่ได้คือจะเป็นผิวสัมผัสแบบจับต้องได้ รู้สึกถึงความเป็นผักตบชวาอยู่ กับแบบ 20% ก็คือ ทำให้ผิวมันนุ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากอัตราส่วนที่ทีมวิจัยทำได้ 40% ก็ถือเป็นอัตราส่วนที่เยอะที่สุดแล้ว ทั้งนี้ นักวิจัยได้มีการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเส้นด้ายผักตบชวา 4 ด้าน คือ เบอร์เส้นด้าย เกลียว ความสม่ำเสมอของเส้นด้าย และความต้านทานต่อแรงดึงขาดก่อนการผลิตเครื่องแต่งกายต้นแบบ
นักวิจัยได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนต่างๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปประยุกต์ใช้แล้ว อาทิ ชุมชนผลิตเสื้อผ้า ชุมชนผลิตพวกเก้าอี้ (เคหะสิ่งทอ) ผลิตพรมจากผักตบชวา โดยการผลิตพรมจะมีทีมนักวิจัยจากคณะวิศวฯ คอยช่วยดูแล เรื่องของเทคนิคการผลิตที่ไม่เกิดปัญหาเชื้อรา ส่วนผ้าทอที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าทั่วไปการผลิตจะทำในเชิงอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ เข้ามาช่วยในเรื่องของการผลิตผ้า ผลิตเส้นด้ายขึ้นมาจากการเปิดตัวทดลอง ได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติ
ปัจจุบัน ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบทั้งในวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พะเยา เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี