พิธีเปิดงานนิทรรศการ “คราส” (Eclipse) งานแสดงภาพจิตรกรรมชุดใหม่ของศิลปินชื่อดัง “ประสงค์ ลือเมือง” พร้อมให้เข้าชมฟรีแล้วตั้งแต่วันนี้ – 18 ก.ค. 66 ณ JWD Art Space

เจดับเบิ้ลยูดี อาร์ทสเปซ จัดพิธีเปิดงาน งานแสดงภาพผลงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินชื่อดังของเมืองไทย “อาจารย์ประสงค์ ลือเมือง” เจ้าของรางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ กรุงเทพฯ ที่ได้นำสถานการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ได้เผชิญกับการแพร่ระบาดในระดับโลกมาสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้

โดยใช้เวลากว่า 3 ปีในการสังเกตและไตร่ตรองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านประสบการณ์สร้างสรรค์เป็นชุดผลงาน “ขนาดใหญ่ที่สุด” เท่าที่ศิลปินเคยสร้างขึ้นในรอบกว่าทศวรรษกับผลงานชุดใหม่จำนวน 2 ชุด รวมทั้งหมด 12 ชิ้น และผลงานที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อนเพื่อสะท้อนถึงวิถีทางทางศิลปะกว่า 5 ทศวรรษของการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องและไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 18 กรกฏาคม 2566 ณ JWD Art Space

โดยในงานได้รับเกียรติจาก ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา กรรมการบริษัทประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGJWD เป็นประธานในงาน และ กษมาพร แสงสุระธรรม ภัณฑารักษ์นิทรรศการเล่าที่มาของนิทรรศการ “คราส” (Eclipse) พร้อมด้วย บรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร SCGJWD, ปุณณภา ปริเมธาชัย ผู้อำนวยการ JWD Art Space, อมรพรรณ บัณฑิตกฤษดา, ณัฐภูมิ-สุพิชา เปาวรัตน์, นารทวี ปียะพัฒนกูล เป็นต้น ร่วมงานด้วย นิทรรศการ “คราส”(Eclipse) โดย อาจารย์ประสงค์ ลือเมือง จะจัดแสดงไปจนถึง 18 กรกฏาคม 2566 ณ JWD Art Space ซอยจุฬาลงกรณ์ 16 เปิดให้บริการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. ทั้งนี้ JWD Art Space ยังเปิดคงให้บริการจัดเก็บ ขนส่ง และบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะ ติดตามข่าวสารของ JWD Art Space ได้ที่ www.facebook.com/JWDArtSpace/

เกี่ยวกับศิลปิน

ประสงค์ ลือเมือง (เกิด พ.ศ. 2505, ลำพูน) เป็นจิตรกรและสร้างผลงานจิตรกรรมมาตลอดชีวิตการทำงานของเขา ประสงค์เริ่มต้นศึกษาศิลปะจากโรงเรียนสิริกร ศิลปวิทยาจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาที่ภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัย ศิลปากร โดยได้ศึกษาศิลปะกับ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ แม้ว่าจะไม่สำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการ เขาเริ่มสร้างชื่อเสียงมาจากการได้รับรางวัล ประกวดศิลปกรรมหลายรางวัลในช่วงระหว่างการศึกษา ในฐานะที่เป็นจิตรกรที่ทำงานทัศนศิลป์ ประสงค์ถ่ายทอดประสบการณ์ทางสายตาจากชีวิตและสภาพแวดล้อมออกมาเป็นผลงานศิลปะตามทัศนะของเขา

ผลงานจิตรกรรมสีฝุ่นที่ประสงค์สร้างขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงทศวรรษ 2000 มีลักษณะโดดเด่นทั้งในเชิงเทคนิคและเนื้อหาด้วยการนำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรมล้านนาผ่านวิถีชีวิตและภูมิทัศน์ของบ้านเกิดของเขาประสงค์ไม่เพียงเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ยืนยันตัวตนความเป็น “ล้านนา” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ท่ามกลางความเป็นไทยแบบกระแสหลักที่มีอำนาจนำในโลกศิลปะขณะนั้น หากยังส่งอิทธิพลอย่างมหาศาลและเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญในโลกศิลปะไทย ในช่วงระหว่างปี 1991-1992 จากเหตุการณ์รัฐประหารที่นำมาสู่การชุมนุมประท้วงของประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยส่งอิทธิพลสำคัญให้เขาสร้างผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่เพื่อสะท้อนเหตุการณ์พฤษภามหาวิปโภคในปี 1992 ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของภาพบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองสำคัญมากไปกว่านั้น หลังทศวรรษ 2000 ประสงค์ให้ความสนใจกับธรรมชาติของมนุษย์และการเดินทางทางจิตวิญญาณ ผลงานจิตรกรรมจำนวนมากของเขาสะท้อนถึงแนวคิดเชิง ปรัชญาตะวันออก ทั้งพุทธศาสนา เต๋า และ เซน ด้วยเทคนิควิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีฝุ่น สีน้ำมัน สีชอล์ค หรือ การใช้หมึกจีน แม้การใช้สีฝุ่นจะเป็นเทคนิควิธีที่เขาเชี่ยวชาญมากที่สุด

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ผลงานของประสงค์ได้รับการคัดสรรและร่วมแสดงในนิทรรศการและเทศกาลศิลปะนานาชาติอย่างต่อเนื่อ เช่น นิทรรศการหมุนเวียน 15 TRACKS: Contemporary Southeast Asian Art (2003, 2004) ณ Tama Art University Museum โตเกียว และ Fukuoka Asian Art Museum ประเทศญี่ปุ่น นิทรรศการ Faith & Being: Singapore Art Museum Thai’s Collection ณ Singapore Art Museum ประเทศสิงคโปร์ นิทรรศการ Traces Of Siamese Smile: Art + Faith + Politics + Love (2008) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการถาวร Between Declarations and Dreams: Art of Southeast Asia since the 19th Century (2015) ณ National Gallery Singapore ประเทศสิงคโปร์ นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” (2008) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผลงานของเขาอยู่ในการสะสมของพิพิธภัณฑ์และสถาบันศิลปะหลายแห่ง โดยเฉพาะในชุดผลงานสะสมเกี่ยวกับศิลปะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Singapore Art Museum ประเทศสิงคโปร์ Fukuoka Asian Art Museum ประเทศญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วม สมัยใหม่เอี่ยมจังหวัดเชียงใหม่ 129 Art Museum จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ปัจจุบัน ประสงค์ยังคงอาศัยและทำงานอยู่ที่บ้านปันต๋า เกิ๋น (พันตาเกิน) จังหวัดลำพูน

เกี่ยวกับ ภัณฑารักษ์

กษมาพร แสงสุระธรรม นักมานุษยวิทยาและภัณฑารักษ์อิสระ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทสาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กษมาพรอาศัยวิธีวิจัยทางชาติพันธุ์วรรณาในการทำความเข้าใจโลกศิลปะ เธอสนใจประเด็นเรื่องการเมืองวัฒนธรรมและการเมืองอัตลักษณ์ โดยเฉพาะการที่กรอบคิดทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง ความคิด และความเชื่อที่ส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมทั้งในบริบทของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานเขียนและงานวิจัยของเธอครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย ทั้งโครงสร้างทางศิลปะในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตลักษณ์ทางศิลปะทั้งศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย วาทกรรมว่าด้วยความเป็นชาติและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น “การก่อร่าง (ภาพ) “ความเป็นไทย” ในศิลปะสมัยใหม่”, “กว่าจะมาเป็น “ศิลปิน ล้านนา”: ศิลปะและอัตลักษณ์ของศิลปินในโนโลกศิลปะไทย”, “อันหาที่เปรียบมิได้: แนวเรื่องเล่าว่าด้วยฮวน ลูน่า จิตรกรฟิลิปิโนใน ศตวรรษที่ 19”, และ “ถ้าศิลปะไม่เป็นการเมืองแล้วจะเป็นอะไรได้: สุนทรียะของความเป็นการเมืองในศิลปะร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นต้น สำหรับผลงานด้านภัณฑารักษ์ กษมาพรเป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ร่วมในนิทรรศการ ปาตานี ร่วมสมัย: นิทรรศการศิลปะจากภูมิภาคปาตานี ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ และอิลฮัม แกลเลอรี กัวลาลัมเปอร์ (2017—2018) และภัณฑารักษ์ร่วมในนิทรรศการปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2019) ปัจจุบันกษมาพรเป็น อาจารย์พิเศษ ณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ของ Waiting You Curator Lab