Sacit พาล่องใต้ สัมผัสเสน่ห์งานหัตถกรรมไทย ฝีมือครูช่างศิลปหัตถกรรมเมืองนคร
นครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รุ่มรวยดัวยศิลปะ วัฒนธรรม และงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถมที่ดีที่สุด เครื่องจักสานย่านลิเภา ผ้ายกเมืองนคร ฯลฯ
วันนี้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit นำคณะสื่อมวลชนเดินทางสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้เกิดการรับรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ พร้อมทั้งสืบสานและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป
คุณนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวถึงภารกิจสำคัญของ sacit ในการส่งเสริมงานหัตถกรรมไทยว่า sacit มีภารกิจในการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสืบสานและรักษาภูมิปัญญาเทคนิคเชิงช่างให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย จึงจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูในถิ่นภาคใต้ และถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ไทยทรงคุณค่า ที่เป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่สืบสานผ่านกาลเวลา
ที่ผ่านมา sacit ได้เดินหน้าผลักดันหัตถกรรมไทย ต่อยอดภูมิปัญญาสู่การอัพสกิลพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรู้จักการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างคุ้มค่า เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบต่างๆ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกทั้งยังเดินหน้าพัฒนางานหัตถกรรมไทยอันทรงคุณค่าคู่ขนานระหว่างงานอนุรักษ์แบบดั้งเดิมและร่วมสมัย สนับสนุนสินค้าแฟชั่นที่ไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม มีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สอดรับต่อเมกะเทรนด์ (Mega Trends) ผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจสินค้าแนวรักษ์โลก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ผลิตอย่างใส่ใจ มีเอกลักษณ์ ไม่ตามกระแส และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การเดินทางในทริปนี้ คณะเราจะไปเยี่ยมชมงานหัตถกรรมไทย 3 แห่งด้วยกัน คือ ผ้ายกเมืองนคร ของกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค ซึ่งมีครูวิไล จิตรเวช ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 เป็นประธานกลุ่ม ต่อด้วยกลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง โดยครูอารีย์ ขุนทน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2563 และกระเป๋าย่านลิเภา โดย คุณนภารัตน์ ทองเสภี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557
ซึ่งคุณนฤดีได้พูดถึงการลงพื้นที่เยี่ยมชมครั้งนี้ว่า…“การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยอันเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นและประเทศไทย ให้เกิดการสืบสานและต่อยอดผลงานเหล่านี้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อเป็นช่องทางการเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ให้แก่สังคมได้รับรู้ถึงความเป็นมา และภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ใกล้สูญหาย แต่ได้รับการสืบสานต่อยอดจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการเยี่ยมชมแหล่งกำเนิดของงานจักสานลิเภา ผ้ายกนคร และผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติในจังหวัดนครศรีธรรมราช”
ผ้ายกเมืองนคร มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า ศิลปะเชิงช่างชั้นสูง โดยกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค
“ผ้ายกเมืองนคร” เป็นผ้าทอพื้นเมืองของทางจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามตามแบบอย่างของผ้าชั้นดี ต้องใช้ศิลปะเชิงช่างชั้นสูง เป็นผ้าที่ใช้ในราชสำนัก และเป็นเครื่องบรรณาการให้เจ้านายชั้นสูง แต่น่าเสียดายที่ครั้งหนึ่ง “ผ้ายกเมืองนคร” เกือบสูญหายไปตามกาลเวลา โชคดีที่ผ้ายกเมืองนครรับการฟื้นฟู สืบสาน และต่อยอดโดยกลุ่มทอผ้าเล็กๆ กลุ่มหนึ่งใน ต.ขอนหาด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมชาติ ซึ่งก่อตั้งโดย ครูวิไล จิตรเวช ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ทำให้ผ้ายกเมืองนครกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ผ้ายกเมืองนครมีกระบวนการทอมีขั้นตอนและวิธีการทอคล้ายการทอผ้าขิดหรือผ้าจก ต่างกันที่บางครั้งผ้ายกจะทอเป็นลายพิเศษ มีตะกอเขาลอยยกดอกแยกเส้นยืนต่างหาก ซึ่งจะยกครั้งละกี่เส้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบว่าต้องการลวดลายอย่างไร ซึ่งบางลายต้องใช้เวลานานหลายเดือน ด้วยกรรมวิธีการทอที่ละเอียด ซับซ้อน และใช้เวลานาน ทำให้ช่างทอหลายคนเลิกทอผ้าไปเหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่
แรงบันดาลใจที่ทำให้ ครูวิไล อยากสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ายกเมืองนคร เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ทำงานเป็นช่างทอของกลุ่มศิลปาชีพบ้านตรอกบางแค ซึ่งสมเด็จพระพันปีมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้ราษฎรในพื้นที่ และฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองในภาคใต้ไม่ให้สูญหายไป ซึ่งครูวิไลเป็นกลุ่มช่างทอรุ่นแรกๆ ที่สืบสานงานทอผ้ายกเมืองนคร ที่มีลักษณะเฉพาะของทางภาคใต้ได้อย่างงดงาม ตามพระราชเสวนีย์ของสมเด็จพระพันปี หลังจากนั้นครูวิไลได้ออกมาตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค มีสมาชิกเริ่มต้น 21 คน เมื่อปี 2545 ปัจจุบันมีช่างทอ 37 คน
ครูวิไลเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาสนใจทอผ้ามากขึ้น ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายคนตกงาน เดินทางกลับบ้าน และเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 7,000 – 15,000 บาท / คน และสูงสุด 20,000 บาท กอปรกับได้รับการสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้และการตลาดจาก sacit ทำให้ผ้ายกเมืองนครที่เกือบจะสูญหายไปกลับมามีชีวิต และเป็นที่ต้องการของตลาดอีกครั้ง
ครูวิไลเปิดเผยถึงการต่อยอดงานผ้ายกเมืองนคร ซึ่งเป็นผ้าในราชสำนักของชาวเมืองนครศรีธรรมราชที่มีประวัติยาวนาน และเป็นหนึ่งในหัตถกรรมล้ำค่าคู่จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นผ้าทอลายโบราณ เช่น ลายพิกุลเถื่อนดอกลอย และลายพิกุลก้านแย่ง อีกทั้งมีการพลิกแพลงพัฒนาลวดลายเพิ่มเติม อย่างลายเกร็ดพิมเสน ที่นำลวดลายต่างๆ มาทอไว้ในผืนเดียว เช่น ลายกรวยเชิง 3 ชั้น ลายหน้ากระดาน ลายขลิบพิมเสน ลายช่อแทงท้อง เป็นต้น พร้อมทอสังเวียนรอบผืน (ทอลวดลายรอบผืน) ทำให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาด สอดรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ถือเป็นการสืบสานต่อยอดงานผ้ายกเมืองนครให้ยั่งยืน
ผ้ายกเมืองนครจะมีการทอ 3 รูปแบบ คือ แบบกรวบเชิงซ้อนหลายชั้น แบบกรวยเชิงชั้นเดียว และแบบกรวบเชิงขนานกับริมผ้า ซึ่งแตกต่างกันทั้งการทอและการนำไปใช้งาน ช่างทอจะต้องมีทักษะเชิงช่างชั้นสูง จึงจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาฝีมือการทอให้ได้ผ้ายกเมืองนครที่วิจิตรบรรจงได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ครูวิไล จิตรเวช จะได้รับรางวัล ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ซึ่งนอกจากจะสืบสานผ้ายกเมืองนครที่เกือบจะสูญหายไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งแล้ว ครูวิไลยังตั้งใจจะพัฒนาและต่อยอดผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครให้ยั่งยืนสืบไปอีกด้วย
วันนี้ครูวิไลเปิดบ้านให้เราได้เข้าไปชมการทอผ้ายกเมืองนครอันเลื่องชื่อแบบไม่หวงวิชาเลย ทำให้เราได้เห็นผ้ายกผืนงามบนกี่ของช่างทอแต่ละหลัง ที่กว่าจะได้เป็นผ้ายกดอกอย่างที่เราเห็นนั้น ต้องใช้ช่างทอที่มีความเชี่ยวชาญ และความอุสาหะอย่างสูง อย่างเช่นผ้าทอยกไหมทองที่ใช้ในราชสำนัก ครูวิไลและช่างทอต้องทำงานร่วมกันถึง 5 คน ในการถักทอลวดลายบนผืนผ้าตามแบบอย่างผ้าโบราณเมื่อ 200 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันมีให้เห็นในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
แต่ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นอยากฟื้นฟูผ้ายกโบราณ ครูวิไลและช่างทอบ้านตรอกแคจึงคิดค้นพัฒนาลวดลายและการทอผ้าลายเกร็ดพิมเสนที่มีลวดลายรอบผืนหรือเรียกว่าสังเวียนใหญ่ขึ้นมา แม้ว่าจะต้องใช้เวลาทอนานถึง 5 เดือน เพื่อให้ได้ผ้านุ่งหนึ่งผืน แต่เป็นความภูมิใจของช่างทอบ้านตรอกแคทุกคน เพราะเมื่อนำไปออกร้านก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ปัจจุบันผ้ายกทองบ้านตรอกแคเป็นที่ต้องการของตลาดมาก จนต้องสั่งจองล่วงหน้านานหลายเดือน
สำหรับคนที่สนใจอยากอุดหนุนผลิตภัณฑ์ผ้ายกเมืองนคร ทางกลุ่มมีผ้าทอหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของผ้าชิ้น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า เสื้อสำเร็จรูป สูท เนคไท กระเป๋า ฯลฯ หรือจะสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ ช้อปปี้ ลาซาด้า และเพจของกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
ผ้ามัดย้อมคีรีวง ศิลปะบนผืนผ้า ภูมิปัญญาชุมชน จากกลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง
“คีรีวง” ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สงบเงียบ และอากาศดีที่สุดในประเทศไทยเท่านั้นนะคะ คีรีวงยังมีงานศิลปะหัตถกรรมที่น่าสนใจให้คุณไปสัมผัสวิถีชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง ที่เรากำลังจะพาคุณไปเยี่ยมชมกัน ถ้าไปคีรีวงครั้งหน้าอย่างลืมแวะไปเยี่ยมชมกลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวงด้วยนะคะ รับรองว่าคุณจะได้ผ้ามัดย้อมสีพาสเทลสวยๆ กลับไปเป็นของฝากของขวัญอย่างแน่นอน
กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง ตั้งอยู่ที่ ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นศูนย์การเรียนรู้การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวคีรีวงที่คิดค้นโดย ครูอารีย์ ขุนทน ครูช่างหัตถศิลปหัตถกรรม ปี 2563 ภายในบริเวณศูนย์เรียนรู้บรรยากาศร่มรื่น มีร้านค้า น้ำดื่ม ขนม ผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ชาวคีรีวงนำมาวางขายให้เราเลือกช้อป ชิม กันอย่างเพลิดเพลิน ครูอารีย์ต้อนรับคณะเราด้วยการแสดงร่ายรำพัดจากน้องๆ ซึ่งชุดที่ทุกคนสวมใส่ก็คือผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติของคีรีวงนั่นเอง
ครูอารีย์เล่าถึงที่มาของการสืบสานเทคนิคการย้อมผ้าจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาตั้งแต่บรรพบุรุษที่หายไป โดยเรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน และลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แล้วนำมาสร้างสรรค์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ด้วยการนำพืชพันธุ์ที่หาได้ในท้องถิ่นมาต้มสกัดให้เป็นสีต่างๆ เช่น เปลือกไม้ ใบ ผล ฝักสะตอ ผลเงาะ ไม้ขนุน ให้สีพาสเทลที่สวยงาม เช่น สีเทา สีชมพู สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม สีเขียวอ่อน และเทคนิคการมัดลายที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ ทำให้ผ้ามัดย้อมของครูอารีย์มีลวดลายสวยงาม และสีติดคงทน จนได้รับความนิยมจากลูกค้าที่ชื่นชอบงานคราฟ์
หลังจากนั้นก็จัดตั้งกลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติคีรีวงขึ้น เมื่อปี 2539 เพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้คนในชุมชนและสืบสานงานผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ พร้อมกับสร้างแบรนด์ผ้าบาติก Kiree ขึ้นมา โดยมีทายาทคือน้องพิ้งค์ ฉัตรชนก และลูกศิษย์ลูกหาซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์ผ้าบาติกคีรีวงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น รวมถึงมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
ผ้าบาติกและผ้ามัดย้อมบ้านคีรีวงมีความแตกต่างจากผ้าบาติกที่เราเคยเห็นทั่วไป ที่มีลวดลายและสีสันสดใจ แต่ผ้าบาติกของคีรีวงจะเป็นสีพาสเทลที่ได้จากพืชพันธุ์ในท้องถิ่น เช่น เปลือกมังคุดของคีรีวงที่ให้สีชมพู หรือสีส้มหมากสุก ฝักสะตอให้สีเทา เปลือกลูกเนียงให้สีน้ำตาลเข้ม ใบหูกวางให้สีเขียวอมเหลือง ใบเพกาให้สีเขียวเข้ม และแก่นขนุนให้สีเหลือง เป็นต้น
ส่วนเทคนิคการสร้างลวดลาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวคีรีวงนั้น เกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ของครูอารีย์ โดยใช้ไม้ไผ่ที่เหลาเป็นซี่เล็กๆ มากั้นผ้าเพื่อสร้างลวดลายต่างๆ ซึ่งวิธีนี้สามารถสร้างลวดลายได้มากกว่า 1,000 รูปแบบ เช่น ลายบัวแฉก ลายใบพัดสิงห์โต ลายใบเฟิร์น ลายซากุระ ลายปลา ลายผีเสื้อ ฯลฯ
ลวดลายของผ้าบาติกคีรีวงจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสร้างสรรค์โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ด้วยการเขียนลวดลายแบบอิสระ ไม่มีแพตเทิร์น ไม่มีแบบร่าง อาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของช่างเขียน ดังนั้นผ้าแต่ละผืนจะมีลวดลายที่ไม่เหมือนกัน แม้แต่ลายเดียวกัน สีและลวดลายก็ต่างกัน มีผืนเดียวในโลกเท่านั้น
ซึ่งครูอารีย์ได้ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับทายาท คือ น้องพิ้งค์ ฉัตรชนก และลูกศิษย์ลูกหาซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ มาช่วยออกแบบลวดลายผ้า ทำให้เกิดลวดลายใหม่ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของหมู่บ้านคีรีวง เช่น ลายฝักสะตอ ลายสายน้ำ ลายภูเขา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าย้อมสีธรรมชาติจากหมู่บ้านคีรีวงที่โดดเด่นสวยงามไม่เหมือนใคร
ครูอารีย์ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และพัฒนารูปแบบสีสันให้มีความน่าสนใจอยู่เสมอ โดยยังคงจุดเด่นในการผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับเยาวชนและคนที่สนใจ โดยเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาการย้อมผ้าสีธรรมชาติบ้านคีรีวงให้ยั่งยืนสืบไป ทำให้ครูอารีย์ ขุนทน ได้รับยกย่องให้เป็นครูช่างด้านศิลปหัตถกรรม ปี 2563
วันนี้นอกจากคณะเราจะได้ความรู้เรื่องการมัดย้อมด้วยสีธรรมชาติจากพืชพันธุ์ในท้องถิ่นที่ให้สีสันและลวดลายที่สวยงามแล้ว ยังได้ผ้าบาติกผืนสวย และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเก๋ๆ จากบ้านคีรีวงกลับไปฝากคนทางบ้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ ใครสนใจงานคราฟ์มีสไตล์แบบนี้ แวะมาเยี่ยมชมได้ที่กลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ คีรีวง โทร. 0869467776 หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ https://www.facebook.com/KireecraftNaturalColors
กระเป๋าย่านลิเภา นภารัตน์ สานต่อมรดกทางภูมิปัญญาสู่ทายาทรุ่นที่ 3
หนึ่งในงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราชคือ “ย่านลิเภา” ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมาหลายร้อยปี และยังคงพัฒนารูปแบบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะพาไปพบกับทายาทช่างศิลป์หัตกรรมไทย ที่สืบสานงานย่านลิเภาของครอบครัว โดยมีคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจ “คุณนภารัตน์ ทองเสภี” ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557
คุณนภารัตน์นับเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจักสานย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน ที่สืบทอดงานจักสานย่านลิเภามากว่า 40 ปี ตั้งแต่สมัยคุณยาย และคุณแม่ ครูสุเจนจิต ทองเสภี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 เธอคลุกคลีอยู่กับงานจักสานตั้งแต่จำความได้ และสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา รวมถึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสืบสานงานจักสานย่านลิเภาของครอบครัวมาโดยตลอด
หลังเรียนจบเธอเริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเอง Naparat โดยพัฒนารูปแบบกระเป๋าย่านลิเภาให้มีความร่วมสมัย เหมาะกับคนรุ่นใหม่ และนำเครื่องถมเงินถมทองที่มีชื่อเสียงของเมืองนครเข้ามาเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หลายรูปแบบ ทำให้แบรนด์ Naparat มีอัตลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เธอได้รับเลือกให้เป็นทายาทช่างศิลป์ ปี 2557 พร้อมกับได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จาก sacit ในการต่อยอดแบรนด์นภารัตน์ออกไปสู่ตลาดสากล
เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นอีกหนึ่งหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตเครื่องจักสานนี้ ใช้พืชตระกูลเฟิร์น หรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ย่าน” พบมากในป่าภาคใต้ของไทย มีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน จึงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเครื่องจักสานย่านลิเภา
โดยกลุ่มจักสานย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สืบสานเอกลักษณ์ของหัตถกรรมไทยที่ทำจากพืชธรรมชาติในท้องถิ่น นำมาสานด้วยความประณีตจากเทคนิคการสานของบรรพบุรุษ และยังนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยการปรับให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้เป็นสินค้าที่สามารถใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน
กระเป๋าย่านลิเภาประดับเครื่องถมเงิน นภารัตน์ เคยได้รับเลือกให้เป็นของขวัญสำหรับมอบให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำอาเซียนและคู่สมรส เมื่อปี 2562 และเมื่อเร็วๆ นี้ “เลดี้ปราง” หรือ “ปราง กัญญ์ณรัณ” นักร้องและนักแสดงชื่อดัง ยังเลือกถือ กระเป๋าย่านลิเภาเครื่องถมทอง นภารัตน์ ไปอวดความงามของงานหัตถศิลป์ไทย “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
ถ้าใครได้มาเห็นกระเป๋าย่านลิเภา นภารัตน์ ใกล้ๆ อย่างเรา คงจะหายข้องใจว่าทำไมกระเป๋าย่านลิเภาถึงมีราคาสูงเทียบเท่ากระเป๋าแบรนด์เนมเลย เพราะกว่าจะได้กระเป๋าย่านลิเภาหนึ่งใบต้องใช้เวลาและความอดทนสูง ตั้งแต่การนำย่านลิเภามาผ่านกระบวนการแล้วนำมาชักเลียดให้เป็นเส้นฝอยๆ ยิ่งเล็กเท่าไรก็จะยิ่งได้ลวดลายที่ละเอียดเท่านั้น บวกกับฝีมือเชิงช่างของคนสานถ้าช่างที่มีความชำนาญจะได้ลวดลายที่สวยงาม ไม่มีที่ติ และด้วยความเหนียวของเส้นย่านลิเภา ทำให้กระเป๋ามีความคงทน ใช้ได้นาน คุ้มค่า คุ้มราคา ที่สำคัญคือสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ถือ กระเป๋าแบรนด์ไทยมีคุณภาพไม่แพ้เบรนด์จากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีสินค้าในกลุ่มของเครื่องประดับ แหวน กำไลข้อมือ ของแต่งบ้าน เช่น ชุดน้ำชา แก้วน้ำ ช้อน ฯลฯ อีกด้วย
กระเป๋าย่านลิเภา นภารัตน์ ตั้งอยู่เลขที่ 136/1 ม.7 ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โทร. 0895132535 สนใจสามารถเข้าไปดูสินค้าได้ทางเพจเฟสบุ๊ค Lipao Handicraft Naparat
นครศรีธรรมราช ไม่ได้มีแต่วัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ไม่ได้มีแต่ไอ้ไข่วัดเจดีย์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ อย่างหมู่บ้านคีรีวง ร้านกาแฟเก๋ๆ ฯลฯ แต่ยังมีงานศิลปะหัตถกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ ที่ถึงแม้กาลเวลาได้ผ่านร่วงไป แต่งานศิลปหัตถกรรมทรงคุณค่า ก็ยังคงถูกสืบสานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีผู้ที่เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมที่คอยสร้างสรรค์และอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษชาวภาคใต้ไว้ไม่ให้หายสิ้นไปตามกาลเวลา…
ไปเยือนนครศรีธรรมราชครั้งหน้า อย่าลืมแวะไปสัมผัสกับเสน่ห์ของงานหัตถกรรมไทย และช่วยกันสนับสนุนสินค้าของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีกำลังใจในการสานต่อมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไปนะคะ
ขอบคุณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) sacit