10 ดีไซเนอร์ดาวเด่นจากภาคเหนือผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เตรียมร่วมเวทีตัดสินการประกวด นักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ ในโครงการ New Gen Young Designer 2024
เพื่อส่งเสริมให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้มีเวทีในการสร้างสรรค์แฟชั่นจากผ้าไทยให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทันสมัย และสวมใส่ได้สนุกในชีวิตประจำวัน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเวทีระดับภูมิภาคเพื่อเฟ้นหา New Gen Young Designer 2024 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมดอยหลวง โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ จังหวัดเชียงใหม่
โดย นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการประกวดนักออกแบบผ้าไทย ใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ ระดับภาคเหนือ ตามโครงการนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ 2567 (New Gen Young Designer 2024) เพื่อคัดเลือกตัวแทนจำนวน 10 ราย/ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 60 ราย/ทีม มาเข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศที่กรุงเทพมหานคร ในปลายเดือนตุลาคมนี้
ในงานได้รับเกียรติจาก นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง, นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เป็นคณะกรรมการตัดสิน
ได้แก่ นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย, ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ, นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE, คุณอารยา อินทรา ที่ปรึกษาด้านแฟชั่น อาจารย์พิเศษด้านแฟชั่นและสไตลิสต์, นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ISSUE นายธนาวุฒิ ธนสารวิมล ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ TANDT
อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และรักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “นับเป็นพระกรุณาคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีแนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้พวกเราคนไทยทุกคนได้สวมใส่ผ้าไทยที่หลากหลาย ในรูปแบบที่มีความทันสมัยสู่ สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส ซึ่งการที่จะสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาสได้นั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาการออกแบบลวดลายและการตัดเย็บที่น่าสนใจ และสวยงาม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านผ้าไทยมาถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เพื่อให้มีทักษะความรู้ นำไปสร้างอาชีพที่มั่นคง สามารถเพิ่มพูนรายได้
นอกจากนี้ พระองค์ทรงสอนให้พวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบต่อโลกใบเดียวของเรา ทรงให้ความสำคัญกับการใช้สีธรรมชาติ เช่น การปลูกพืชและต้นไม้ให้สีธรรมชาติ การใช้วัสดุจากท้องถิ่น การใช้เส้นไหมเส้นฝ้ายที่มาจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หรือการปลูกฝ้าย เพราะวงจรชีวิตของผ้าไทยมาจากเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จนกลายเกิดเป็น Sustainable Fashion หรือ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” โดยนำสิ่งรอบตัวจากธรรมชาติมาผสมผสาน รวมถึงทรงส่งเสริมเรื่องการตลาดในการเพิ่มเรื่องเล่า Story Telling และการพัฒนารูปแบบ Packaging”
นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปี 2567 กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการจัดทำโครงการนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ 2567 (New Gen Young Designer 2024) เพื่อพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย สู่การเป็นนักออกแบบผ้าไทย รวมทั้งเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และนักออกแบบผ้าไทย และเพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอีกด้วย
สำหรับโครงการนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ 2567 (New Gen Young Designer 2024) ภาคเหนือ มีผู้สมัครเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 60 ราย/ทีม และผ่านเข้ารอบระดับภาคเหนือ จำนวน 19 ราย/ทีม โดยมาจากจังหวัดเชียงใหม่ 6 ราย/ทีม จังหวัดเชียงราย 4 ราย/ทีม จังหวัดน่าน 2 ราย/ทีม จังหวัดพะเยา 3 ราย/ทีม จังหวัดแพร่ 1 ราย/ทีม จังหวัดลำปาง 1 ราย/ทีม จังหวัดลำพูน 1 ราย/ทีม และจังหวัดอุทัยธานี 1 ราย/ทีม
ซึ่งการประกวดในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้ทำการคัดเลือกให้เหลือตัวแทนระดับภาคเหนือจำนวน 10 ราย/ทีม เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันชิงชนะเลิศในระดับประเทศ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ในกรุงเทพมหานครต่อไป