“สว่างไสว ศิวิไล” เปิดฉากเทศกาลศิลปะชุบชีวิตของผู้คนและเมือง พร้อมฉลองการใช้ชีวิตในทุกวันกับ SIWILAI ณ ศิวิไล, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์

เปิดฉากแล้วกับเทศกาลศิลปะ “สว่างไสว ศิวิไล” ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม ที่ส่งเสริมอิสรภาพในการแสดงออก สร้างสรรค์ความคิดเชิงบวก และสร้างแรงบันดาลใจผ่านพลังของศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ภายใต้การนำของ SIWILAI (ศิวิไล) ที่มีแนวคิดมุ่งเชื่อมโยงผู้คนกับประสบการณ์ที่น่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ซึ่งเป็นหนทางในการส่องแสงแห่งความหวังไปสู่อนาคต

โดยเปิดพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้แก่ สถานที่ทั้งหมดของ SIWILAI (ร้าน SIWILAI Store, SIWILAI Café, SIWILAI City Club, SIWILAI Sound Club) รวมถึงบริเวณด้านหน้าและภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี และพื้นที่ภายในเซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ให้กลายเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวทางศิลปะใหม่ๆ พร้อมผสานความร่วมมือ กับ AP THAILAND และ 3 แกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยชั้นนำของไทย ได้แก่ ARTIST+RUN, Gallery VER และ Bangkok CityCity Gallery ด้วยการนำเสนอสุดยอดผลงานศิลปะของศิลปินไทยร่วมสมัย ที่คัดสรรมาเพื่อสนับสนุนและขยายขอบเขตศิลปะในท้องถิ่นให้แพร่หลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

พร้อมเปิดโอกาสให้นักสะสมและผู้ที่รักในงานศิลป์สามารถจับจองผลงานศิลปะได้เฉพาะในงานนี้เท่านั้น อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ ลิมิเต็ด เอดิชั่น อาทิ เสื้อยืด หมวก ถุงผ้า ที่ออกแบบพิเศษโดยศิลปิน วางจำหน่ายเฉพาะงานนี้ โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 3 – 27 มีนาคม 2565

บรม พิจารณ์จิตร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ศิวิไล กล่าวว่า “สว่างไสว ศิวิไล” เป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่ SIWILAI จัดขึ้น เพราะเราตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนและสังคม จึงอยากใช้พื้นที่เป็นสื่อกลางทางด้านศิลปะในการเชื่อมโยงผู้คนและแบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลังบวก และความคิดสร้างสรรค์ให้คนในสังคม ได้มีการต่อยอดความคิด และมีกำลังใจสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งเรามีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนศิลปินไทยให้มีพื้นที่แสดงออกทางความคิดเชิงสร้างสรรค์ ในสภาวะที่ทุกคนอยู่ภายใต้ข้อจำกัด พร้อมเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายผลงานศิลปะในหมู่นักสะสม และผู้ที่สนใจงานศิลปะ เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนศิลปินไทย

ในขณะเดียวกันก็เป็นการผสานงานศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนไทย ซึ่งงานนี้เราได้ร่วมมือกับ 3 แกลเลอรี่ชั้นนำของไทย ได้แก่ ARTIST+RUN, Gallery VER และ Bangkok CityCity Gallery มาร่วมคัดสรรผลงานจากศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานเป็นที่น่าจับตามอง มาจัดแสดงในงานครั้งนี้ และยังมีการจำหน่ายสินค้ารุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่ออกแบบพิเศษโดยศิลปิน ไว้ให้เก็บสะสม

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่อยากชวนให้ทุกคนมามีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์ทางศิลปะด้วยตนเอง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “สว่างไสว ศิวิไล” จะเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับศิลปะร่วมสมัยของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า รวมถึงสร้างความสุข จุดประกายแห่งความหวัง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกท่าน ผ่านมุมมองของศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลายตลอดการจัดงานในครั้งนี้”

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ผู้ก่อตั้ง Artist+Run กล่าวถึงความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในเทศกาลครั้งนี้ว่า “เทศกาล สว่างสไว ศิวิไล สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม เพื่อให้เราได้มีประสบการณ์กับงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งสะท้อนคุณค่าเกี่ยวกับเสรีภาพ และความคิดสร้างสรรค์”

สำหรับเทศกาลครั้งนี้ ได้รวบรวมผลงานที่ใช้สื่อศิลปะหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม งานวิดีโอ ศิลปะภาพเคลื่อนไหว ศิลปะจัดวาง และการแสดง โดยตลอดระยะเวลาของการจัดงานต่อเนื่อง 25 วัน ผู้ชมจะได้เข้าร่วมการเดินทางสำรวจจิตใจของศิลปิน รวมทั้งรูปแบบและวิธีการในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ 15 ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, มิตร ใจอินทร์, ทัศนัย เศรษฐเสรี, หริธร อัครพัฒน์, จักกาย ศิริบุตร, เอจิ ซูมิ, ส้ม ศุภปริญญา, กรกฤต อรุณานนท์ชัย, ธนัช ตั้งสุวรรณ, หฤษฎ์ ศรีขาว, ณัฐดนัย จิตต์บรรจง, ณัฐพล สวัสดี, สะรุจ ศุภสุทธิเวช และ อลิสา ฉุนเชื้อ กับผลงานศิลปะชิ้นหายาก และผลงานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ที่นำมาเปิดตัวภายในงานเป็นครั้งแรก

เริ่มที่สเตชั่นของการมีส่วนร่วม โดย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในรุ่นของเขา นำเสนองานศิลปะที่ใช้ข้อความสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ผ่านเสื้อยืดซิลค์สกรีนที่มีข้อความว่า “Freedom cannot be simulated” (เสรีภาพไม่สามารถจำลองได้) ผลงานนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเป็นเจ้าของได้ และเมื่อสวมใส่เสื้อยืดนี้ในพื้นที่สาธารณะ ก็ชวนให้ตั้งคำถาม เปิดประเด็นสนทนาที่ท้าทายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา

ส่วน ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ นำเสนอผลงาน 3 ชุด ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะดั้งเดิม (Primitive art) และศิลปะชนเผ่าของแอฟริกา ประกอบด้วยงานจิตรกรรมแนวนามธรรม ที่มีชื่อว่า “สว่าง ไสว ศิวิไล” (พ.ศ. 2564) ที่สร้างสรรค์ขึ้นสำหรับเทศกาลนี้โดยเฉพาะ ผลงานโดดเด่นด้วยสีสันของสีอะคริลิคบนกระดาษและฝีแปรงอิสระที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว โดยได้แรงบันดาลใจจากแสงที่สว่างไสวเจิดจ้าเปรียบเสมือนกับความหวังในการมีชีวิต และประติมากรรมกระถางต้นไม้ “Soulid Ground” (พ.ศ. 2564) ที่ประกอบสร้างขึ้นจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่ถูกทิ้ง เช่น เหล็ก ที่ผสานงานดีไซน์และความสวยงามแปลกตาของพันธุ์พืช เปรียบเสมือนประติมากรรมมีชีวิตที่เกิดจากธรรมชาติ รวมทั้งชุดประติมากรรมขนาดเล็ก “The Leftover” (พ.ศ. 2563) ที่ประกอบขึ้นจากเหล็กและพลาสติกโดยทำให้มีรูปทรงเหมือนเก้าอี้นั่งยองๆ ผลงานของเขายังแสดงความห่วงใยถึงผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จากนั้นพบกับผลงานจิตรกรรมนามธรรมของศิลปินปลดแอก มิตร ใจอินทร์ ผู้ท้าทายขอบเขตของงานจิตรกรรมแบบจารีต ด้วยการนำเสนอประวัติศาสตร์และวิธีการใช้สื่อ ทั้งการผสมสี การทาสีซ้อนทับหลายชั้น และการกัดเซาะสีโดยวิธีการทำซ้ำอย่างแม่นยำ ซึ่งครั้งนี้เขาได้สร้างพื้นที่แห่งอิสรภาพ โดยนำเสนอ “SIAM Rainbow Republic” (พ.ศ. 2563) ผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบ ที่ถูกแขวนไว้ในพื้นที่เปิดโล่งด้านบนของระเบียง ในเชิงปฏิบัติการทางศิลปะเป็นการเพ่งพิจารณาเกี่ยวกับแสงและเวลา ในบรรยากาศที่ผู้ชมจะได้ดื่มด่ำกับผลงานโดยไม่มีกำแพงขวางกั้น และงานจิตรกรรมชุดนี้มิได้เป็นเพียงวัตถุสำหรับจ้องมอง หากกลายเป็นผืนผ้าใบบังแดดที่เปลี่ยนสีอยู่ตลอดเวลาตามแสงกระทบตามช่วงเวลาของแต่ละวัน

ทางด้าน ทัศนัย เศรษฐเสรี เสนอผลงานศิลปะจัดวาง ในชื่อ “make it like home…anywhere?” (พ.ศ. 2545-2557) ซึ่งเผยให้เห็นภาพอดีตอันงดงามและความใฝ่ฝันถึงอนาคตอันพร่าเลือน ที่ต่างมาบรรจบ ณ จุดตัดแห่งความเป็นปัจจุบันขณะ ความรู้สึกที่คละเคล้ากันระหว่างความอยากกลับบ้านกับความต้องการต่อสู้เพื่อวันข้างหน้าของผู้พลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในต่างแดน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตของวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ในภาพที่กว้างขึ้น

หริธร อัครพัฒน์ มุ่งเน้นการสร้างงานประติมากรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของความคิดและน้ำหนักทางอารมณ์ในกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านรูปทรงมนุษย์ กับผลงาน “On Human Nature” (พ.ศ. 2559) ซึ่งเป็นชุดประติมากรรมต้นแบบปูนปลาสเตอร์สีขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยมือเปล่า ที่มีลักษณะคล้ายศีรษะมนุษย์ราวกับถูกสะกดจิต ดูแปลกประหลาดและน่ากลัว กำลังเผชิญหน้ากับผู้ชมและผู้สัญจรไปมาที่รายล้อมด้วยภาพที่น่าดึงดูดใจของวิถีชีวิตคู่ขนานในฝัน ย้ำเตือนให้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากความหลงผิดในยุคปัจจุบัน

สำหรับเทศกาลนี้ จักกาย ศิริบุตร ตั้งใจสร้างสรรค์เสื้อแจ็คเก็ตปักลวดลายตามสั่งอย่างประณีต ภายใต้โครงการศิลปะชุมชน “Phayao a Porter” (พ.ศ. 2564 – ต่อเนื่อง) ที่ศิลปินริเริ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือช่างฝีมือในจังหวัดพะเยา ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจระหว่างการระบาดใหญ่ เสื้อแจ็คเก็ตปักลวดลายอย่างประณีต กลายเป็นไอเทมที่ไม่ซ้ำใคร โดยเปิดให้ผู้ชื่นชอบงานศิลปะสั่งทำได้เฉพาะในเทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล และรายได้จากการจำหน่ายจะนำไปช่วยเหลือชุมชนต่อไป

ส่วนศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้มีถิ่นพำนักที่กรุงเทพฯ เอจิ ซูมิ นำเสนอผลงานศิลปะจัดวาง ซึ่งประกอบด้วย ไม้ โลหะ และพิกเซล LED ในรูปแบบเวทีทรงกลมที่มีกลไกคล้ายกระดานหกที่เล่นกับน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงภายใต้กฎแห่งโมเมนตัม ในชื่อผลงาน “Here and There” (พ.ศ. 2561) โดยศิลปินตั้งใจสะท้อนแง่มุมถึงประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองไทย ให้มีการคานและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

ส้ม ศุภปริญญา สร้างผลงานที่มุ่งเน้นประวัติศาสตร์และผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบต่อภูมิทัศน์ ในงานวิดีโอจัดวางชื่อ “10 Places in Tokyo [RGB]” (พ.ศ. 2564) ศิลปินนำเสนอภาพวิดีโอของสถานที่ 10 แห่งในโตเกียวที่มีรายงานว่าใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในเมืองในปี พ.ศ. 2553 แม้จะเกิดภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะในปี พ.ศ. 2554 แต่โตเกียวก็ยังคงพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ ผลงานชิ้นนี้ผสานสองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการบริโภคพลังงานทั้งในระดับท้องถิ่นและทั่วโลก

ทางด้าน กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปิน นักสร้างภาพเคลื่อนไหว และนักเล่าเรื่อง สร้างผลงานที่ผสานเรื่องแต่งเข้ากับบทกวี เพื่อสร้างประสบการณ์บนสุนทรียศาสตร์ที่ร้อยรวมกันกับตัวตนที่มีเค้าโครงจากครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงาน พร้อมข้ามพ้นความคิดเรื่องการเป็นศิลปินโดดเดี่ยวมาสู่การทำงานร่วมกับผู้คนมากมายในการสร้างงานวิดีโอ การแสดงสดและดนตรี ดังที่ปรากฏในผลงาน ได้แก่ “There will be no music in this room, only scars left on the face of this planet” (พ.ศ. 2564), ผลงานวิดีโอ “2556” (พ.ศ. 2556) ที่ศิลปินเล่นกับเวลา ด้วยการตั้งชื่องานตามปีพุทธศักราช ซึ่งงานชิ้นนี้สร้างขึ้นบนการตั้งคำถามว่าศิลปะคืออะไร และการตระหนักรู้ถึงตนเองของศิลปิน โดยนำเสนอภาพการแสดงสดของศิลปินที่อ้างอิงจากการแสดงสดวาดภาพแบบเปลือยอกของผู้เข้าแข่งขันรายการเรียลลิตี้โชว์ นอกจากนี้ ยังมีผลงานจิตกรรม “วาดภาพกับประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 3” (พ.ศ. 2558) ที่ชิ้นส่วนความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องทางจิตวิญญาณ เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์ มาประสานกัน เป็นคำบอกเล่าถึงทัศนะที่ศิลปินมีต่อสังคมร่วมสมัย

ธนัช ตั้งสุวรรณ ศิลปินรุ่นใหม่ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสารอันท่วมท้นล้นหลากในยุคสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน เขาได้สร้างผลงานภาพวาดจรวดชื่อ “Weightless Intersections” (พ.ศ. 2565) ที่สื่อถึงจุดบรรจบกันที่ไร้น้ำหนักในห้วงอวกาศ สำหรับศิลปิน จรวดเป็นวัตถุที่ทรงพลัง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของจุดสูงสุดของความเฉลียวฉลาดและการทำงานร่วมกันของมนุษย์ แต่ยังเป็นข้อพิสูจน์และความต่อเนื่องของประเพณีการสำรวจและการค้นพบของมนุษย์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ศิลปินคำนึงถึงทรัพยากรจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการสำรวจอวกาศนี้ และตั้งคำถามถึงความจำเป็นจริงๆ ในโลกปัจจุบัน

สำหรับการทำงานที่ก้าวข้ามไปมาระหว่างศิลปะ แฟชั่น และวัฒนธรรมป๊อป ได้สร้างโลกจำลองแบบเหนือจริงของศิลปิน Gen Z อย่าง หฤษฎ์ ศรีขาว ที่มองว่าภาพถ่ายนั้นเป็นสื่อที่กำหนดวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถสื่อถึงอำนาจทางประวัติศาสตร์และทำหน้าที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ศิลปินนำเสนอผลงาน “Mt. Meru series” (พ.ศ. 2560) ซึ่งเป็นผลงานชุดภาพถ่ายที่ใช้ความเหนือจริงและวัตถุที่แสดงความคลั่งไคล้ เพื่อสร้างความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งให้กับประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย ผลงานชุดนี้ยังสร้างภาพในเชิงตำนานที่เป็นสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่ บางภาพปรากฏร่างนิรนามในชุดรัดรูป ในขณะที่บางภาพเน้นการจัดวางรูปถ่ายของผู้คนในยุคอาณานิคม ผลงานชุดนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับศรัทธาและศีลธรรมในสังคมไทย

ส่วนผลงานของ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง นำเสนอวัตถุและวัสดุทางกายภาพ โดยเน้นที่มิติทางประวัติศาสตร์ผนวกกับมุมมองสะท้อนจากส่วนตัวที่ศิลปินมีต่อโลกปัจจุบัน ในผลงาน “Pillars Babel” (พ.ศ. 2564) เสาปูนจำนวนหนึ่งร้อยสิบสองต้นถูกวางเรียงขึ้นซ้อนกันเป็นวงกลมเหมือนรูปทรงของหอคอยสูงจนเกือบจรดเพดาน ผลงานนี้อ้างอิงถึงหอคอยบาเบล (Tower of Babel) ที่สร้างขึ้นในสหัสวรรษที่สองก่อนคริสต์ศักราช ในเมืองโบราณบาบิโลนในอิรัก หอคอยสูงเสียดฟ้าที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้ยอดไปถึงสวรรค์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความทะเยอทะยานของมนุษย์ เปรียบได้กับความทะเยอทะยานของผู้คนที่ต้องการเริ่มต้นเส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงและมีเสรีภาพในการแสดงออก

ในเทศกาลนี้ยังมีผลงานศิลปะจัดวางเสียง โดย ณัฐพล สวัสดี ที่นำเสนอซาวด์สเคป (องค์ประกอบเสียงในสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาหนึ่ง) ของกรุงเทพฯ ในผลงานชื่อ “Never wish to exist, yet never hope to disappear” (พ.ศ. 2564) ประกอบด้วยประติมากรรมแหล่งกำเนิดเสียงที่สร้างลำโพงขึ้นจากแก้วอันเปราะบาง สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ต่างๆ ในเมือง ที่มีการทับซ้อนและซาวด์สเคปมีองค์ประกอบหลากหลาย ตั้งแต่เสียงของผู้คน เสียงของความยากจน ไปจนถึงเสียงของความโกรธ ที่เขาพยายามบันทึกเสียงเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็อยากให้เสียงเหล่านั้นเลือนหายไป

ส่วนศิลปินมัลติมีเดีย สะรุจ ศุภสุทธิเวช นำเสนอผลงานวิดีโอจัดวาง“กล้องวงจรปิดของยามรักษากาล” (พ.ศ. 2562) ซึ่งสำรวจความทรงจำของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหอศิลป์ฯ โดยภาพวิดีโอแบ่งออกเป็นหลายจอคล้ายกับจอภาพของกล้องวงจรปิด (CCTV) กับความทรงจำของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเรื่องผีและเรื่องลี้ลับที่พบเจอ แต่คราวนี้มาพร้อมกับภาพพื้นที่ว่างเปล่านอกเวลาทำการ ซึ่งกล้องจับภาพจากพื้นที่ส่วนต่างๆ ของหอศิลป์ฯ การบรรจบกันของประวัติศาสตร์เฉพาะของพื้นที่และความทรงจำของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำให้สถาบันหอศิลป์ฯ นี้ดูเหมือนกับสิ่งมีชีวิต ขณะเดียวกันภาพจากกล้องวงจรปิดก็เปลี่ยนสถานะให้ผู้ชมอยู่ในมุมมองของผู้เฝ้าดูไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ อลิสา ฉุนเชื้อ นำเสนอผลงานศิลปะจัดวางสื่อผสม “Muscle and Pharynx” (พ.ศ. 2563-2564)  ซึ่งเป็นโครงการศิลปะสาธารณะที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผสานศิลปะกับชีวิตประจำวัน โดยพิจารณาถึงความรู้สึกต่อการสัมผัสและการรับรู้รสตามความต้องการทางสรีรวิทยาของมนุษย์ ศิลปินทำงานกับวัสดุที่หาได้ภายในบ้านของเธอ ด้วยการสร้างชิ้นวัตถุขึ้นใหม่โดยทำงานร่วมกับช่างฝีมือหญิงในกรุงเทพฯ ผลงานประกอบไปด้วยเครื่องประดับ สิ่งทอ, เครื่องใช้โลหะ และประติมากรรมสำริด ซึ่งถอดแบบแม่พิมพ์จากรูปทรงปากของเธอและนำมาเป็นเครื่องใช้สำหรับโต๊ะอาหาร ผู้ชมสามารถเพลิดเพลินกับเครื่องดื่มและอาหารที่ปรุงพิเศษ ในขณะที่สำรวจความเป็นส่วนตัวและการเข้าสังคม ความใกล้ชิดและความห่างเหิน

และที่สำคัญเทศกาล สว่างไสว ศิวิไล” ยังมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์ที่ดื่มด่ำและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม โดยจัดงานเสวนาพูดคุยกับศิลปิน เวิร์กช็อป การแสดงดนตรี การนำชมผลงานศิลปะ ตลาดงานศิลปะ และกิจกรรมความร่วมมือด้านอาหารและศิลปะในช่วงสุดสัปดาห์ สำหรับไฮไลท์ของงานนี้จะเป็นงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นำโดยสองครีเอเตอร์ชื่อดังระดับโลก ได้แก่ ศิลปิน ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และเชฟ เดวิด ทอมป์สัน (David Thompson),

การแสดงสดในยามค่ำคืนของศิลปิน กรกฤต อรุณานนท์ชัย และ ธนัช ตั้งสุวรรณ พร้อมแขกรับเชิญที่จะมาร่วมสร้างประสบการณ์ทางดนตรี รวมถึงมาสเตอร์คลาสการทำพาสต้าโดย Nam Nam Pasta and Tapas ที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานจิตรกรรมของ มิตร ใจอินทร์, เวิร์กช็อปวาดภาพกับนักวาดภาพประกอบ Juli Baker and Summer หรือ ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา อีกทั้งยังได้สัมผัสผลงานอันน่าทึ่ง ภายใต้การนำของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ที่จะปรับเปลี่ยน ‘SIWILAI Café’ พื้นที่สำหรับจิบกาแฟและอิ่มอร่อยกับมื้ออาหารในช่วงกลางวัน ให้เป็น Soulid Ground Café นอกจากนี้ยังพบกับการแสดงดนตรีและอีเว้นท์ที่มีชีวิตชีวาจาก Quay Records, Horoza และกลุ่มนักสร้างสรรค์อื่นๆ ที่จะมาร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ในเทศกาลศิลปะนี้ให้สมบูรณ์และน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ AP Thailand แบรนด์อสังหาฯ แถวหน้าของเมืองไทย ยังได้ร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตร เปิดตัวคอนเซ็ปต์สเปซ “THE IDEAL WORLD STORE BY AP THAILAND” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางแนวคิดไม่ซ้ำแบบใคร ที่เชิญชวนผู้ชมเข้ามาสำรวจโลกในอุดมคติ ด้วยมุมมองใหม่หลากหลายแบบและปราศจากข้อกำหนด ที่บริเวณชั้น 4 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

มาร่วมจุดประกายแสง ‘สว่าง’ แห่งความหวัง ส่องประกายพลิ้ว ‘ไสว’ ให้กับชีวิต และเข้าถึงงานศิลปะอย่าง ‘ศิวิไล’ ในเทศกาล “สว่างไสว ศิวิไล” ตั้งแต่วันที่ 3 – 27 มีนาคม 2565 ซึ่งจัดขึ้นในสถานที่ทั้งหมดของ SIWILAI (ร้าน SIWILAI Store, SIWILAI Café, SIWILAI City Club, SIWILAI Sound Club) รวมถึง ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี และ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์

โดยงานนี้เปิดให้เข้าชมฟรีตลอดการจัดงาน และร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการเข้าชมงาน สามารถติดตามรายละเอียด และตารางการจัดกิจกรรมของเทศกาลศิลปะ “สว่างไสว ศิวิไล” เพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/SawangSawaiSiwilai

#SawangSawaiSiwilai