มาตรวจ “เต้านม” กันเถอะ วิธีง่ายๆ เพื่ออยู่ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิง สถิติปัจจุบันพบ 30-40 คนต่อประชาการ 100,000 คน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายพบได้เพียง 1% ของมะเร็งในผู้ชาย พบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี เกิดจากหลายสาเหตุทั้งกรรมพันธุ์และความผิดปกติที่เกิดขึ้นเองภายหลัง
เพื่อให้สาวๆ ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม พญ.ชุตินันท์ วัชรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัย – ภาพรังสีวินิจฉัยชั้นสูงและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลนวเวช จึงได้มาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคนี้ รวมทั้งมาแนะแนวทางในการตรวจเต้านมให้ทราบด้วย
ปัจจัยเสี่ยง
- ประวัติมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ในญาติใกล้ชิด ได้แก่ แม่ พี่สาว หรือน้องสาว
- เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
- มีประวัติยีนผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2
- ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีคนแรกขณะอายุมากกว่า 30 ปี
- ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็วและหมดประจำเดือนช้า หรือใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
- เคยฉายแสงบริเวณทรวงอก
แนวทางการตรวจเต้านม
- ตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละ 1ครั้ง เมื่ออายุมากกว่า 20 ปี
- ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
- ควรทำแมมโมแกรม และ/หรืออัลตราซาวน์ ในช่วงอายุ 35- 40 ปี 1 ครั้ง หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไป ควรทำทุก 1 ปี
- หากมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็น ลบออก 5 ปี
วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
- ตรวจเป็นประจำทุกเดือน โดยตรวจหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน และตรวจในวันเดือนกันของทุกเดือน
- ยืนหน้ากระจก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเต้านมทั้ง 2 ข้าง ทั้งขนาด รูปร่าง หัวนม ลักษณะผิวหนัง
- ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วหมุนตัวช้า ๆ เพื่อดูด้านข้าง
- ใช้มือเท้าเอวและโน้มตัวลงด้านหน้า
- ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ ดูว่ามีน้ำ เลือด หรือหนองไหลออกมาหรือไม่
- เริ่มคลำเต้านมในท่ายืน โดยใช้มือซ้ายตรวจเต้านมขวา ใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ค่อย ๆ กดลงบนผิวหนังให้ทั่วเต้านมไปจนถึงรักแร้ หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน
- นอนหนุนหมอนใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ แล้วคลำเต้านมด้วยวิธีการเดียวกับท่ายืน
ความผิดปกติที่ควรรีบพบแพทย์
- คลำได้ก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้
- หัวนมบุ๋มหรือมีแผล
- ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น บุ๋มลง หนา แดงร้อน หรือเปลี่ยนสี
- เต้านมมีขนาดหรือรูปทรงเปลี่ยนแปลง
- มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม
- มีแผลที่หายยากบริเวณเต้านมและหัวนม
การตรวจเต้านม
- แมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายเอกซเรย์ เริ่มทำที่อายุ 35-40 ปี ในรายที่ไม่มีอาการ และทุกปีเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ใช้ตรวจหาก้อนขนาดเล็ก หินปูน การดึงรั้งของเต้านม
- อัลตราซาวด์เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจได้ในทุกช่วงอายุ สามารถตรวจดูก้อน ถุงน้ำ ท่อน้ำนม และต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะตรวจควบคู่กับแมมโมแกรมในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปี แต่ไม่สามารถทดแทนการตรวจแมมโมแกรมได้เนื่องจากไม่สามารถดูหินปูนได้
- MRI ทำในรายที่มีความเสี่ยงสูง เต้านมหนาแน่นมาก หรือตรวจพบความผิดปกติจากแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์มาก่อน
- การเจาะชิ้นเนื้อ เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติของเต้านม แพทย์จะมีการพิจารณาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อผ่านเครื่องมือระบุตำแหน่ง ได้แก่ เครื่องอัลตราซาวด์ หรือแมมโมแกรม เพื่อเจาะได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
โรงพยาบาลนวเวช มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย พร้อมดูแลสุขภาพของผู้หญิงอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลนวเวช โทร.02 483 9999 หรือ www.navavej.com