นิทรรศการ “แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย” มหัศจรรย์สีย้อมธรรมชาติ สืบสาน สร้างมูลค่าผ้าไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
สีสันของแฟชั่น ถือเป็นสิ่งสะดุดตาไม่น้อยไปกว่าดีไซน์อันโดดเด่น ก่อนจะมองให้ลึกเข้าไปถึงเนื้อผ้า เทคนิค และความละเอียดในการตัดเย็บ วัสดุสำหรับย้อมเพื่อให้เสื้อผ้าและแอคเซสเซอรี่ต่างๆ ออกมาเป็นสีสันดั่งใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผ้าไทยจะพบว่าเฉดสีอันหลากหลายเกิดจากภูมิปัญญาของช่างทอผ้าในอดีตที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์สืบต่อมายังคนรุ่นหลังให้ได้หยิบแนวคิดมาใช้และพัฒนาต่อยอดก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่
สิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในเทรนด์บุ๊ก THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 ที่จัดทำขึ้นตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in Chief) ด้วยพระองค์เองพร้อมทรงตั้งพระทัยที่จะสืบสาน ต่อยอด และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมผ้าทอไทยให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป
โดยเนื้อหาของเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ได้รับการถ่ายทอดผ่านนิทรรศการสุดตระการตาในชื่อ “แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดขึ้นภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 นำเสนอแนวโน้มเฉดสีมุมมองธรรมชาติการผสมผสานสีสันแห่งเนื้อแท้วัสดุสำหรับผ้าไทยในคอลเลกชั่นประจำฤดูหนาว เพื่อให้ผู้สนใจหัตถศิลป์ผ้าไทย โดยเฉพาะเหล่าผู้ประกอบการ นักศึกษาแฟชั่น รวมถึงนักออกแบบหน้าใหม่ได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีแบบแผน
เพียงก้าวเท้าเข้ามาในพื้นที่นิทรรศการ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของภูมิปัญญาช่างทอผ้าไทยที่ได้สั่งสมเรื่องราวการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ นิทรรศการนำเสนอโดยหยิบยกตัวอย่าง โทนสีน้ำตาลอมเขียว เกิดจากย้อมสีด้วยฝักของประดู่หรือเปลือกมะพร้าว เมื่อนำมาผสมกับครามจะได้สีน้ำตาลเข้ม ขณะเดียวกันสีของครามที่ถูกผสมผสานเข้ากับสีเหลืองสุกจากแข จะได้สีที่ปรับเปลี่ยนเป็นเฉดสีน้ำตาลอ่อนไล่ไปจนถึงเฉดสีเขียวอมน้ำตาล
โทนสีม่วงม่าเหมี่ยว ภูมิปัญญาการย้อมสีแดงเกิดจากการนำครั่ง วัตถุดิบธรรมชาติมาย้อม และเมื่อนำมาย้อมทับด้วยครามหลายครั้งจึงเกิดเป็นสีม่วงม่าเหมี่ยวหรือสีม่วงลูกหว้า แต่ละน้ำย้อมจะได้สีแดงในเฉดที่ต่างกันออกไป เช่นเดียวกับคราม เมื่อนำทั้งสองเฉดสีอ่อนมาผสมผสานกันจึงเกิดเป็นสีม่วง
ขณะที โทนสีเขียวตองอ่อนจนถึงเขียวหัวเป็ด เกิดจากการย้อมครามทับสีเหลืองไม้ย้อมสีที่ให้สีเหลืองมีหลากหลายตั้งแต่เปลือกขนุน ดอกพุทรา หรือแม้แต่ดอกดาวเรือง หากต้องการสีเขียวสด ภูมิปัญญาไทยได้เลือกใช้ไม้แกแล ซึ่งจะให้สีเหลืองสว่าง คล้ายสีของผิวมะนาว เป็นต้น
เข้าสู่ส่วนจัดแสดงที่เป็นไฮไลท์ของนิทรรศการ จุดนี้นำเสนอแฟชั่นตระการตาที่ออกแบบโดย 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์แถวหน้าระดับประเทศ ที่นำผ้าทอมือจากชุมชนต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ มาตัดเย็บเป็นชุดสวยภายใต้กลุ่มโทนสีในทิศทางต่างๆ ได้แก่ SIRIVANNAVARI BANGKOK, ARCHIVE026, ASAVA, EK THONGPRASERT, KLOSET, RENIM PROJECT, ISSUE, T AND T, THEATRE, VICKTEERUT, VINNPATARARIN และ WISHARAWISH
เริ่มจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK กับกลุ่มโทนสีคราม นำเสนอแฟชั่นในมุมมอง INDIGO : THE HEART OF COLOUR SHADES (คราม: โทนสีแห่งใจกลาง) ภูมิปัญญาไทยแห่งการย้อมสีธรรมชาติอันมาจากครามทำให้เกิดเป็นวงจรสี ด้วยการนำวัตถุดิบและพืชพรรณในท้องถิ่นที่นอกเหนือจากสีหลักเกิดเป็นการย้อมแบบผสมผสาน เช่น สีครามผสมสีเหลืองประโหดให้เฉดสีเขียว ครามผสมสีเหลืองแกแลให้เฉดสีเหลืองหม่นจนถึงสีน้ำตาล และครามผสมสีแดงครั่งให้เฉดสีม่วงจนถึงสีชมพู “คราม” จึงกลายเป็นตัวละครหลักในการสร้างสรรค์เฉดสีใหม่ๆ เพื่อการสร้างสรรค์เทรนด์ผ้าไทยฤดูกาล Autumn/Winter 2022-2023
แบรนด์ THEATRE และ KLOSET กับกลุ่มโทนสีม่วงแดงไล่ไปถึงชมพู RIPE AND MATURITY (สุกงอม พร้อมพรั่ง) เป็นช่วงเวลาแห่งการยอมรับการเป็นผู้นำของสตรีเพศ กลุ่มสีแดงอมม่วงกับความรู้สึกแห่งเสน่ห์และความปรารถนา เปรียบเสมือนกับคนที่่สั่่งสมประสบการณ์จนเริ่มสุกงอม ปรากฏให้เห็นเป็นความเปล่งปลั่่งดังผลไม้สุก หรือสีของไวน์แดงชั้้นดีที่่ผ่านการบ่มอย่างพิถีพิถันจากแคว้น Bordeaux ประเทศฝรั่่งเศส ส่วนผสมของสีในกลุ่มนี้้เกิดจากการใช้ครั่่งผสมคราม เฉดสีที่่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันตามพื้้นผิวของผ้าที่่แสดงความมีระดับดูมีราคา
แบรนด์ ASAVA และ ARCHIVE026 กับกลุ่มโทนสีน้ำเงินปนฟ้า PROFOUNDNESS MILD (สุขุมนุ่มลึก) ตัวตนของคนรุ่นใหม่ที่แม้จะเติบโตและถูกหล่อหลอมจากวัฒนธรรมในเมืองใหญ่ แต่มีจิตใจที่อยากเข้าถึงธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ที่เห็นชัดเจนก็อย่างสีสันของผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มทอผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติ จ.สกลนคร ผ้าไหมสาวเลยย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ และผ้าฝ้ายย้อมครามเทคนิคยกมุก บ้านหนองสัง จ.สกลนคร เป็นต้น
แบรนด์ ISSUE และ RENIM PROJECT กับกลุ่มโทนสีน้ำตาลอิฐ HEAVEN ON EARTH (ความมหัศจรรย์จากผืนดิน) บุคลิกของกลุ่มคนที่เชื่อในแนวคิดของบริบทความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และมรดกทางอารยธรรมสะท้อนสู่ทัศนคติการใช้ชีวิตที่เคารพในมรดกจากคนรุ่นก่อน กลุ่มสีนี้้แสดงออกถึงความมีปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และมากด้วยจินตนาการ อย่าง สีปูนแดง สีอบเชย สีวัวแดง และ สีดินเผาด่านเกวียน ขณะที่โทนสีน้ำตาลให้ความรู้สึกที่มั่นคง เรียบแต่ไม่ง่ายแอบซ่อนไว้ด้วยความกล้าแกร่งที่ไม่ก้าวร้าว อย่าง สีเปลือกมะขาม สีน้ำตาลอ้อย สีน้ำตาลใหม้ และสีลูกหม่อนก่ำ เหล่านี้ปรากฏใน ผ้าไหมอีรี่ ไหมสีธรรมชาติ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ อ.อัญจารี จ.ขอนแก่น ผ้าไหมมัดหมี่โครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ สวนจิตรลดา เป็นต้น
แบรนด์ THEATRE และ EK THONGPRASERT กับกลุ่มโทนสีเหลือง NURTURER OF WISDOM (ผู้โอบอุ้มภูมิปัญญา) เปรียบได้กับการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เพื่อถ่ายทอดและเชื่อมโยงคุณค่าของอดีตกับปัจจุบัน กลุ่มสีเหลืองเปรียบได้ดั่งแสงสีของงานเทศกาลประเพณีในช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวของไทย ถ่ายทอดผ่าน สีขี้ผึ้งใหม่ สีเปลือกข้าวโพด สีลูกกระวาน สีขี้ผึ้ง สีอกร่องสุก เช่น ฝ้ายยกดอกลายกลีบมะเฟือง กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านคำประมง จ.สกลนคร ผ้าไหมยกดอก กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ด้วยไม้มงคล จ.มหาสารคาม เป็นต้น
แบรนด์ VICKTEERUT และ WISHARAWISH กับกลุ่มโทนสีเขียว A HUMBLE JOURNEY (การเดินทางแห่งประสบการณ์ มุมมองที่เกิดจากกลุ่มคนที่หลงใหลในการท่องเที่ยว สะท้อนผ่านสีหมอกสัมผัสกับแสงอาทิตย์ในยามเช้า ให้ความรู้สึกอบอุ่นท่ามกลางอากาศหนาว สีปุยนุ่นที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวล สีเขียวขี้ช้าง สีเขียวไข่กา และสีเชือกปอ สะท้อนความงามของวัสดุที่นอบน้อม เช่น ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติไหมทองสุรนารี จ.นครราชสีมา ผ้าฝ้ายผสมเส้นใยนุ่มไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ เป็นต้น
และแบรนด์ VINN PATARARIN และ T AND T กับกลุ่มโทนสีขาวมุก-เทา AN ALTERNATIVE PERSUATION (อิสระในการค้นพบตัวเอง) ตัวแทนพลังของคนรุ่นใหม่ อิสระในการค้นพบตัวเองและเสริมสร้างกลายเป็นจิตวิญญาณใหม่ มีปัญญาที่นอกกรอบ สะท้อนออกมาเป็นกลุ่มสีสเปกตรัมอันมาจากการแยกสัดส่วนของแสงออกเป็นสีสันต่างๆ เช่น สีขาวงาช้าง และสีขาวเหลือบมุก ให้ความรู้สึกเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง รวมถึง สีเทาประกายเงิน สีเทานกแซงแซวสีม่วงสายบัว สีโป๊ยเซียนแดง อย่างผ้าไหมทวีตผสมไหมอีรี่ ขนแกะ ฝ้าย และเปลือกไหม ทอโดย เปมิกา เพียเฮียง หรือผ้าไหมเปลือกย้อมสีธรรมชาติ เทคนิคทอผสมสี กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
ขณะที่ส่วนที่ 2 จัดแสดงแฟชั่นรองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับคอลเลกชั่นใหม่ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศที่ออกแบบอย่างมีสไตล์ โดยอิงเฉดสีที่สอดคล้องกับเทรนด์บุ๊กเล่มล่าสุดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่ต้องการมิกซ์แอนด์แมทช์แฟชั่น และพื้นที่จัดแสดงส่วนที่ 3 จัดแสดงผ้าทอมือและย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนต่างๆ จำนวน 30 ชิ้น ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวินเทอร์คอลเลกชั่นตามเทรนด์บุ๊กเล่มล่าสุด จำแนกตามวัสดุ เส้นใย และความหนาของเนื้อผ้าผ่านเทคนิคต่างๆ ได้แก่ ยกดอก ขิด จก ปัก มัดหมี่ ด้นมือ เกาะหรือล้วง และ แพตช์เวิร์ก หรือการนำชิ้นผ้าหลากสีมาเย็บต่อเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ e-book ได้ทาง http://www.culture.go.th หรือที่link http://book.culture.go.th/ttt2022/mobile/index.html#p=1 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร. 02-247-0013 ต่อ 4305 และ 4319 – 4321 ในวันและเวลาราชการ และสามารถเข้าชมนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ได้ระหว่างวันนี้ ถึง 23 มกราคม 2565 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ สุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม