องค์แม่ลงอีกครั้ง! คริสติน่า อากีล่าร์ หวนรับงานพรีเซนเตอร์ SARRAN แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติไทย ถ่ายทอดคอลเลกชันใหม่ สุดปัง
ฉายา Queen of Dance ของเมืองไทย หนึ่งในศิลปินหญิงยอดนิยม จะต้องมีชื่อนี้ คริสติน่า อากีล่าร์ นักร้องหญิงที่มียอดจำหน่ายเทปทะลุล้านตลับเป็นคนแรก สร้างสถิติเทปเกินล้านตลับถึง 4 ชุด และเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลระดับโลกจากเวที MTV Video Music Awards บทเพลงของคริสติน่ายังคงฮิตติดหู เช่น ประวัติศาสตร์ พลิกล็อค เปล่าหรอกนะ จริงไม่กลัว ไม่ยากหรอก ไปด้วยกันนะ นาทีที่ยิ่งใหญ่ อย่ามองตรงนั้น พูดอีกที ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเนื้อหาที่เข้ากับทุกยุคทุกสมัยและเข้ากับทุกเพศวัย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายบทเพลงเสมือนเป็นเพลงชาติของ LGBTQIA+ ทำให้คริสติน่ากลายเป็นตัวแทนของความเท่าเทียมทางเพศ นั่นจึงทำให้เครื่องประดับแบรนด์ SARRAN ที่มีกลุ่มลูกค้าหลากหลายเพศวัยคว้าตัวคริสติน่ามาเป็นตัวแทนของแบรนด์
“SARRAN” แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติไทยก่อตั้งโดย ศรัณญ อยู่คงดี งานออกแบบจิวเวลรี่ที่มีอัตลักษณ์ โดยนิยมใช้ดอกไม้ไทยและการอบเครื่องหอมมาทำเป็นงานศิลปะที่สามารถสวมใส่ได้ การันตีผลงานด้วยรางวัลนักออกแบบแห่งปี (Designer of the Year) สาขา Jewelry Design ปี 2021 ดีไซน์โดดเด่นด้วยการผสานงานฝีมือ ดอกไม้ เครื่องหอม วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ถ่ายทอดผ่านดีเอ็นเอคนไทยมาใช้กับจิวเวลรี่ดีไซน์ได้อย่างชาญฉลาด จนได้รางวัลในสายงานออกแบบดังระดับโลกมาแล้วมากมาย เช่น The Tiffany & Co. Foundation และรางวัล Craft Design Award จาก World Crafts Council แห่ง UNESCO
ล่าสุด แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติไทย SARRAN ผู้มีผลงานออกแบบจิวเวลรี่ในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA ของ LISA แห่งวง BLACKPINK เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ พร้อมกับเปิดตัว ติ๊นา-คริสติน่า อากีล่าร์ ในฐานะพรีเซนเตอร์คอลเลกชันนี้
คริสติน่า อากีล่าร์ กล่าวว่า “ทุกคนมองติ๊นาว่าเป็นผู้หญิงที่มีพลังและให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ ติ๊นาช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ดีและชัดเจนยิ่งขึ้นในคอลเลกชัน รามายณะ ที่อิทธิพลของสตรีเข้ามามีบทบาทในวิถีของบุรุษ การทลายความเชื่อของความแข็งแกร่งของบุรุษและความอ่อนโยนหรือเปราะบางของสตรี ให้เหลือไว้แต่การมีอยู่ของเรื่องราว ที่ทุกตัวละครนั้นล้วนแต่มีความสำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน”
ศรัณญ อยู่คงดี ศิลปิน นักออกแบบจิวเวลรี่ เจ้าของแบรนด์ SARRAN กล่าวว่า “ดอกไม้ที่เปราะบางก็สามารถที่จะเติบโตได้ แม้ภายในจิตใจของชายที่แข็งแกร่ง” ศรัณญตั้งคำถามกับการมีอยู่ของผู้คนในสังคม สภาวะการไร้ตัวตนหรือการไม่ให้ความสำคัญกับการมีอยู่ การไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน การกีดกันทางด้านเพศโดยมองข้ามถึงความสามารถและศักยภาพในตัวตนของแต่ละบุคคล ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและสังคมของเรายังไม่สามารถที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่
ศรัณญหยิบยกหนึ่งในวรรณกรรมสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์และศิลป์ของไทย ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม และนาฏศิลป์ชั้นสูง “Collection ได้รับแรงบันดาลใจจาก รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ เรื่องราวกล่าวถึงความสัมพันธ์ของตัวละครหลายชนชั้น เรื่องราวประกอบไปด้วยความรัก การรบ ความภักดีและการทรยศ แต่สิ่งหนึ่งที่วรรณกรรมไม่ได้ให้รายละเอียดไว้อย่างชัดเจนคือ หลักฐานของการมีอยู่ของตัวละครเพศหญิง เราสามารถรับรู้ได้ว่าตัวละครนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นและเป็นตัวเชื่อมโยงเหตุการณ์สำคัญไว้เกือบทั้งเรื่อง แต่กลับไม่มีรายละเอียดอธิบายความเป็นตัวตนของแต่ละตัวละครไว้เทียบเท่ากับฝ่ายชาย ถ้าเปรียบเทียบเหมือนภาพยนตร์ในยุคปัจจุบัน ระหว่างที่ตัวละครฝ่ายชายกำลังรบกันอยู่ ตัวละครสตรีเหล่านั้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดกำลังคิดและกำลังทำอะไรอยู่ สตรีเรานั้นได้ส่งอิทธิพลอะไรที่ทำให้ฝ่ายชายนั้นต้องก่อสงคราม”
การสร้างงานศิลปในครั้งนี้ ศรัณญแทนค่าตัวละครด้วยสีทั้งสองกลุ่มคือ
1. ตัวละครฝ่ายชาย แทนค่าด้วยสีเขียว จากการแต่งกาย สีผิว โดยได้รับอิทธิพลหลักมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดารามวรมหาวิหารหรือวัดพระแก้ว
2. ตัวละครฝ่ายหญิง แทนค่าด้วยสีชมพู จากการได้ศึกษาวรรณกรรมไม่ได้มีกล่าวเฉพาะเจาะจงถึงเรื่องสีของการแต่งกายของแต่ละตัวละครไว้อย่างชัดเจน จึงได้นำสีที่เป็นองค์ประกอบที่เห็นเด่นชัดที่สุดนอกเหนือจากสีทองก็คือสีชมพูในเฉดต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเครื่องแต่งกายหรือดอกไม้ที่ใช้ทัดผม รวมถึงสีของริมฝีปากและการแต่งแต้มผิว
3. การเลือกใช้สีดำสำหรับโลหะ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายโขนในช่วงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ โดยสีนี้ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศกับวัตถุโลหะทำให้เกิดเป็นสีดำเข้มและมีเงาประกาย
โดยการตีความคือ การใช้โครงสร้างและโทนสีที่อยู่ในช่วงยุคปี 2022-2025 ซึ่งได้หลักแนวคิดมาจาก การที่วัฒนธรรมและการแต่งกาย ตั้งแต่อดีตนั้นถูกแสงและการสะท้อนจากไฟและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันทำให้เกิดโทนสีที่แตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิม รวมถึงในครั้งนี้ยังคงเลือกใช้ดอกไม้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดพระศรีรัตนศาสดารามวรมหาวิหาร หรือวัดพระแก้ว โดยนำดอกไม้ที่ถูกวาดขึ้นตามจินตนาการของศิลปิน ถอดโครงสร้างและออกแบบการจัดวางสีขึ้นมาใหม่ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสีที่ถูกวาดขึ้นในยุคสมัยก่อนที่ได้มีการเลือนและถูกกัดเซาะจากลมและฝน
การออกแบบงานศิลปะทุกชิ้นในครั้งนี้ ได้นำเอาเทคนิคดั้งเดิมและเทคนิคในยุคปัจจุบันเข้ามาผสมเพื่อตีความรามายณะ หรือรามเกียรติ์ในยุคสมัยปัจจุบัน การกล่าวถึงอิทธิพลของสตรีที่เข้ามามีบทบาทในวิถีของบุรุษ การทลายความเชื่อของความแข็งแกร่งของบุรุษและความอ่อนโยนหรือเปราะบางของสตรี ให้เหลือไว้แต่การมีอยู่ของเรื่องราว ที่ทุกตัวละครนั้นล้วนแต่มีความสำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน วรรณกรรมได้ถูกถ่ายทอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบความเชื่อและสังคมในแต่ละยุคสมัยย่อมแตกต่างกัน ในฐานะของผู้ที่เฝ้ามองประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน จึงขออนุญาตวิพากษ์วรรณกรรม ในมุมมอง ความเชื่อ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามยุคสมัยปัจจุบันในเชิงปัจเจก โดยมุ่งหวังให้เกิดการศึกษางานศิลป์ในอดีตและตีความเพื่อทำความเข้าใจและทำให้มรดกในอดีตสามารถสร้างแนวคิดหรือสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำให้สังคมนั้นน่าอยู่มากยิ่งขึ้น และความสำคัญของการมีอยู่ของสตรีทุกท่านในบทประพันธ์ที่ล้วนแล้วคือผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดให้เกิดขึ้น