กระทรวง อว. จับมือ SkillLane  นำร่องคลังหน่วยกิตแห่งชาติ รับฝากและสะสมหน่วยกิต ตามประกาศระบบคลังหน่วยกิตใหม่ เริ่มใน 4 ม. ชั้นนำ

กรุงเทพฯ 18 ตุลาคม 2565กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผนึกความร่วมมือกับ SkillLane เปิดตัวโครงการนำร่องจัดทำคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรองรับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสถานภาพเป็นนักศึกษาสามารถนำผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้จากวิชาและหลักสูตรต่างๆ หรือนำประสบการณ์ทำงาน มาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ แล้วสามารถนำขอรับปริญญาบัตรจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยได้ หรือเพื่อเป็นรายงานผลลัพธ์การเรียนรู้สะสมของผู้เรียน ประเดิมนำร่อง กับ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ในปัจจุบันที่โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย คนไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการศึกษาก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างที่เปลี่ยนไปและพฤติกรรมผู้เรียนที่เข้าถึงความรู้ได้จากหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ อาทิ การฝึกอบรม และการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น ประสบการณ์ทำงาน ด้วยเหตุนี้ “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ” จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษาและคนทั่วไปเข้าถึงวิชาและหลักสูตรต่างๆ จากหลากหลายแหล่งเรียนรู้ รวมถึงได้ทำงานเก็บประสบการณ์จริงแล้วนำมาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตเพื่อขอรับใบรับรองการเรียนรู้ หรือปริญญาบัตรซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยวิธีเทียบโอนหน่วยกิตและขอรับปริญญาบัตรนั้นจะขึ้นอยู่กับระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาตามนโยบายของกระทรวงฯ 

ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ประกาศระบบการเทียบโอนหน่วยกิต และ ระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญภายใต้ นโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษา ของ รมว.อว. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติมีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนของประเทศผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนในทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ภายใต้ระบบคลังหน่วยกิต ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตผ่านคลังหน่วยกิตที่มาจากหลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย หน่วยฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง และจากการเทียบโอนประสบการณ์ โดยที่ผ่านมา อว. ได้ดำเนินการโครงการ Thailand Cyber University ที่มีหลักสูตรออนไลน์ ผ่าน Thai MOOC ซึ่งช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่ผู้เรียนนอกมหาวิทยาลัยมาก่อนแล้ว  ในขณะที่ระบบคลังหน่วยกิตใหม่นี้จะเป็นการต่อยอดและขยายโอกาสการเรียนรู้ของผู้เรียนออกไปอีกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ระบบคลังหน่วยกิตเกิดผลอย่างรวดเร็ว  อว. จึงได้ร่วมกับ SkillLane และอีก 4 มหาวิทยาลัย ในการนำร่องการทดลองระบบคลังหน่วยกิต ทั้งในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการตามประกาศและทางเทคนิคที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศข้อมูล  และจะขยายรูปแบบตามโครงการนำร่องไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้ระบบคลังหน่วยกิตเกิดประโยชน์สูงสุด”

นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกิลเลน เอดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า “SkillLane เชื่อมั่นเสมอว่า เทคโนโลยีช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มโอกาสการศึกษาของไทยได้ เราตั้งใจใช้เทคโนโลยีช่วยให้คนเข้าถึงความรู้ยุคใหม่ได้อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่และเวลา รวมถึงเชื่อมโยงแหล่งความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน สำหรับความร่วมมือในโครงการนำร่องจัดทำคลังหน่วยกิตแห่งชาตินี้ เราได้ใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของเราเข้ามาช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศของคลังหน่วยกิตแห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อคลังหน่วยกิตของแต่ละสถาบันเข้าไว้ด้วยกัน

รศ. ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวให้ทันกับโลก และความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป การเกิดขึ้นของคลังหน่วยกิตแห่งชาติจะช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนรวดเดียวจนจบ แต่ละคนสามารถเรียนไปได้เรื่อย ๆ ตามเงื่อนไขและจังหวะชีวิตของตัวเอง ที่สำคัญ นอกจากคลังหน่วยกิตแห่งชาติจะเชื่อมต่อกับ TUXSA ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ของธรรมศาสตร์ได้อย่างลงตัวในอนาคตแล้ว ยังจะช่วยให้ธรรมศาสตร์กลับไปทำหน้าที่ตลาดวิชายุคดิจิตอลที่ส่งเสริมการ Upskill และ Reskill ให้กับคนในทุกเจนเนอเรชันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้”

รศ. ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อไปว่า “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (NCBS) เป็น Ecosystem สำคัญของกระทรวงฯ ที่ขยายโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาในระบบ Formal Informal และ  Non-Formal Education ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนความรู้ใหม่ ๆ ผ่านหลากหลายแหล่งเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานจริง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ ในศตวรรษใหม่ที่พร้อมปรับตัวเข้ากับอนาคต ผ่านการมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมและประเทศ รวมถึงผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงที่ตอบสนองความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่บนฐานของ Demand Driven โดยการไม่ผูกขาดองค์ความรู้ ที่สำคัญคือ แม้ความรู้ของผู้เรียนจะมีที่มาหลากหลาย แต่ก็เป็นความรู้ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพราะได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยอีกขั้นหนึ่งแล้วโดยให้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์และดุลยพินิจตามเจตนารมณ์ของกฏกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ ที่ Decentralized ไปยังแต่ละสภามหาวิทยาลัย”

รศ.ดร. ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า “คลังหน่วยกิตแห่งชาติจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการปฎิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะด้านการเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมได้เข้าถึงองค์ความรู้ ตามความมุ่งหวังของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สร้างสรรค์ให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ให้การศึกษาเป็นสิ่งเกิดขึ้นในทุกจังหวะของชีวิตทั้งเพื่อปริญญาหรือเพื่อการพัฒนาตนเอง ด้วยหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันการศึกษา และนำไปสู่การเกิดคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา”

รศ. ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเสริมว่า “การเกิดขึ้นของคลังหน่วยกิตแห่งชาติจะช่วยให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนไทยเกิดขึ้นได้จริงในวงกว้าง และไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในรั้วสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น คลังหน่วยกิตนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ความตั้งใจของมหาวิทยาลัยในการผลิตและพัฒนาคนผ่านระบบการเรียนการสอนแบบ Lifelong Learning สำเร็จได้จริง ในรูปแบบที่มีศักยภาพยิ่งกว่าเดิม”

คลังหน่วยกิตแห่งชาตินับเป็นก้าวสำคัญของการศึกษาไทย เป็นการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศและทลายกำแพงระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โดยโครงการนี้จะเริ่มนำร่องใช้กับ 4 สถาบันอุดมศึกษาในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566