ปลัด อว.กระตุ้นมหาวิทยาลัยสร้างมนุษย์ดิจิทัล พร้อมสู่ประเทศดิจิทัลและประเทศพัฒนาแล้ว

ปลัดอว.ย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยดิจิทัลในการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องมุ่งผลิต “มนุษย์ดิจิทัล” และเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างนวัตกรรมและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในทุกมิติ ขณะที่รองเลขาฯสภาพัฒน์ระบุการใช้เครื่องมือ DMM เพื่อพัฒนาประเทศในนิเวศดิจิทัลต้องไม่หยุดอยู่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย และต้องประยุกต์เทคโนโลยีสากลให้เข้ากับภูมิสังคมไทยได้

วันที่ 24 มกราคม 2566  ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” Digital Maturity Model (DMM), Transformation Readiness towards Digital University โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเครื่องมือ DMM รวมถึงประสบการณ์การสำรวจความพร้อมสู่ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยดิจิทัล

ปลัด อว.กล่าวระหว่างปาฐกถา “แนวนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ว่าการพัฒนาของโลกทั้งปัจจุบันที่อยู่ในยุคดิจิทัล มูลค่าของเศรษฐกิจและบริษัทชั้นนำของโลกมักเกี่ยวข้องกับดิจิทัล เทคโนโลยีเกินครึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับดิจิทัล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยเป็นกลไกหนึ่งของโลกจึงต้องให้ความสำคัญกับการก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยเตรียมบทบาทของมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมมุ่งสู่ดิจิทัลในฐานะที่เป็นคลังความรู้ของประเทศในการผลิตบุคลากรเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศดิจิทัล ดังนั้นดิจิทัลจึงมีสองมิติทั้งเป็นเครื่องมือและเป็นเป้าหมายปลายทาง

มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ประเทศดิจิทัล ในมุมของกระทรวง อว. เห็นว่ามหาวิทยาลัยจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย จึงต้องเตรียมความพร้อมที่จะทำให้องค์กรบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพได้ดีขึ้น มหาวิทยาลัยมีหน้าที่จำเพาะในการใช้ดิจิทัลในภารกิจจัดการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด เช่น การสอนออนไลน์ นอกจากนี้ยังต้องมองไปข้างหน้าถึงกลไกการให้การศึกษาในรูปแบบอื่น เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงภารกิจในการวิจัยโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สร้างนวัตกรรม และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในทุกมิติและทุกภารกิจ

“มหาวิทยาลัยยังมีหน้าที่สำคัญมากในการสร้างคนไทยให้เป็น “มนุษย์ดิจิทัล” เพื่อเป็นอนาคตของประเทศที่สามารถใช้และพัฒนาดิจิทัลได้ต่อไปในอนาคต ดังนั้นบทบาทในการสอน ให้ความรู้และประสบการณ์ในการใช้ดิจิทัลของมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ประการสุดท้ายมหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยควรจะมีความพร้อมล่วงหน้า 10 ปี ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการพัฒนา และเน้นความประหยัด มีประสิทธิผลสูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง”

ขณะที่ ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการใช้เครื่องมือ DMM กับการพัฒนาประเทศในนิเวศดิจิทัล ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติตามหลักการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) เป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายใต้แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงฯ ทั้งนี้ โจทย์สำคัญภายใต้ 13 หมุดหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศ คือ ต้องทำน้อยได้มาก ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ประเทศ การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ เป็นคนไทยที่มีสมรรถนะสูง อยู่ได้ด้วยตนเองและไปต่อได้ในภาวะวิกฤต

“การทำ DMM อย่าอยู่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ต้องออกมานอกรั้ว ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาและบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ทุกคนเป็นตัวจักรสำคัญในการผลิตบัณฑิตและใช้ดิจิทัลเพื่อพัฒนาประเทศ มี Digital Mindset มุ่งมั่นที่จะสร้างตัวเองให้เป็นดิจิทัล รวมถึงการสร้างวิชาการที่ประยุกต์สากลให้เข้ากับภูมิสังคมไทยในแต่ละพื้นที่ได้ การวิจัยและพัฒนา การบริการสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งนี้ DDM เป็นเครื่องมือบอกสถานะ โจทย์ วิเคราะห์สิ่งที่ควรทำและไปต่อ อีกทั้งช่วยติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดการเดินหน้าและยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีความพร้อมในการใช้ข้อมูล โดยเป้าหมายสุดท้ายคือประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สุดท้ายขอฝากข้อคิดในการใช้ DMM บนหลัก 6 ประการ คือ มีความรู้ในสิ่งที่ทำ มีคุณธรรม มีความเพียรล้มแล้วลุกให้ได้ ตัดสินใจบนหลักความพอประมาณ มีเหตุและผล และมีภูมิคุ้มกันที่หาทางออกได้เสมอ”

ด้าน อ.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เผยถึงเครื่องมือ DMM เป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนถึงความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ให้ผู้บริหารและระดับปปฏิบัติการเห็นภาพตรงกันต่อการดำเนินงานในมหาวิทยาลัย รวมถึงกำหนดประเด็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ทำให้เกิดการนำไปใช้ แบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน ต้องร่วมกันสร้างนิเวศแห่งการพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วน ในมุมมองความต้องการของสังคมที่เชื่อมโยงกับทิศทางของโลกและบริบทของประเทศสู่การกำหนดเป้าหมายของตนเอง และขับเคลื่อนองค์กรอย่างเป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้อง