พม. Kick off “พม. Smart” ระบบการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมทั่วประเทศสานการทำงานแบบไร้รอยต่อ

วันที่ 26 กันยายน 2567 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off ระบบการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม “พม. Smart”

โดยมี นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานในส่วนกลางและภูมิภาค และทีมพัฒนาระบบฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายอนุกูล กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้มีนโยบายการคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาทางสังคม โดยจัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 เป็นศูนย์กลางในการเร่งรัด จัดการ และติดตามการดำเนินงานการให้ความช่วยหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน ผ่านปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็วของทีมสหวิชาชีพ ซึ่งขับเคลื่อนงานเชิงรุกในการดูแลกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และสื่อสารเชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้พัฒนาระบบการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม หรือที่เรียกว่า “พม.Smart” เป็นรูปแบบ Web Application โดยดำเนินการร่วมกับมูลนิธิวิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่ง พม.Smart เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการยกระดับการทำงานในภารกิจการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ประสบปัญหาทางสังคมและประชาชนของกระทรวง พม. รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครอง

ตั้งแต่การสอบข้อเท็จจริง การจัดเก็บข้อมูล การวางแผนการช่วยเหลือ การติดตามและประเมินผล รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าด้วยกัน เป็นการลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องปฏิบัติงานรูปแบบ พม. หนึ่งเดียว คือการทำงานแบบไร้รอยต่อ ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการแล้วใน 6 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร และชัยนาท โดยปัจจุบัน

“พม.Smart” มีการดำเนินการขยายผลการพัฒนาระบบได้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีม พม.หนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนกลุ่มเป้าหมาย

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้ร่วมกันพัฒนาระบบ “พม. Smart” จนมีการขยายผลครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้งานระบบ “พม. Smart” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประสบปัญหาทางสังคม สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการจากบริการของกระทรวง พม. และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #พมSmart #ระบบการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม