GISTDA ได้วิเคราะห์ข้อมูลภาพจากดาวเทียม Sentinel-2B พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณอ่าวไทยตอนบน และบริเวณใกล้ชายฝั่ง

จากการวิเคราะห์และประเมินพื้นที่ร่วมกับข้อมูลกระแสน้ำจากระบบเรดาร์ชายฝั่ง คาดว่าพื้นที่ที่มีแนวโน้มอาจจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว คือพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งของตำบลอ่างศิลา และตำบลแสนสุข อำเภอเมือง และตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี (กรอบสีแดง)

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว (bloom)ของ Phytoplankton (แพลงก์ตอนพืช สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง)  ซึ่งจะมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษโดยจะเกิดเป็นระยะเวลาหนึ่ง ช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนมากจะเกิดช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีมวลน้ำจากบกที่มีปริมาณสารอาหารสำหรับพืชน้ำไหลลงสู่ทะเล ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ปริมาณสารอาหารในน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ในน้ำ เป็นต้น ทำให้ค่อนข้างยากต่อการคาดการณ์การเกิด  โดยปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบ ในหลายด้าน เช่น

  1. คุณภาพน้ำชายฝั่งเน่าเสีย  เนื่องจากการเน่าสลายของ Phytoplankton พวกนี้ จะมีผลต่อสัตว์ทะเลทำให้ขาดออกซิเจนและตายได้
  2. ทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวลดน้อยลง เนื่องจากน้ำชายฝั่งเน่าเสีย  ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำในทะเล
  3. สัตว์ทะเลที่กิน Phytoplankton เหล่านี้เข้าไป ถ้าเป็นชนิดมีพิษ จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
  4. มีผลกระทบกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้

ทั้งนี้ Plankton Bloom หรือปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีหรือปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (water discolouration)เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว (บลูม หรือ Bloom)ของแพลงก์ตอนพืช เนื่องจากแพลงก์ตอนเหล่านี้ต่างก็มีสีในตัวเอง เมื่อเกิดการเจริญเติบโตจำนวนมาก จึงทำให้สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไปตามชนิดของ phytoplankton

ดังนั้น ช่วงนี้ถ้าจะทานอาหารทะเล ต้องระวังหน่อยครับ

#GISTDA #จิสด้า #ก้าวสู่ปีที่21 #เรดาร์ชายฝั่ง #bloom #ชายฝั่งทะเล #อ่าวไทยตอนบน #บางแสน #แสนสุข #อ่างศิลา #บางพระ #ศรีราชา #ชลบุรี #อาหารทะเล #สัตว์ทะเล #น้ำทะเลเปลี่ยนสี