วช. ระดม 7 PMU จัดเสวนาเตรียมความพร้อมให้กับนักวิจัย ก่อนขอทุนวิจัยของประเทศ
วันที่ 16 ธันวาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนา “การเตรียมความพร้อมของนักวิจัยเพื่อขอทุนวิจัยของประเทศจากผู้ให้ทุนวิจัยระดับแนวหน้า 7 PMU” ในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค และวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 18 ธันวาคม 2564 ณ อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดร.วรินธร สงคสิริ รักษาการผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันประเทศ (บพข.) นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และนางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เข้าร่วมการเสวนาฯ ในรูปแบบออนไลน์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้มีการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2566 ทาง PMU ได้มีการฉายภาพในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต
โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้กันพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุคเพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม รูปแบบการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. มี 4 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 Open Call เปิดรับข้อเสนอการวิจัย รูปแบบที่ 2 รูปแบบ Commissioning คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มเรื่องเพื่อดำเนินงานวิจัย รูปแบบที่ 3 รูปแบบ Joint Project ดำเนินงานวิจัยตามความร่วมมือ
และรูปแบบที่ 4 รูปแบบ Co-funding ดำเนินงานวิจัยโดยการร่วมทุนวิจัย ส่วนของระบบ วช. ใช้ร่วมกับทุก PMU ในการรับข้อเสนอโครงการ คือระบบ NRLLS เป็นระบบที่นักวิจัยอัพเดทข้อมูลวิจัย ติดตามประกาศรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ส่งข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนการวิจัย รวมถึงสามารถศึกษาแนวทางและเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณา ข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการวิจัยและนวัตกรรม ส่วนการนำผลงานวิจัย สู่การใช้ประโยชน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงสังคมและชุมชน เชิงนโยบาย และเชิงพาณิชย์ และยังสามารถประเมินระดับความพร้อมของการวิจัย ในครั้งนี้เป็นการฉายภาพของการจัดการในบทบาทที่ วช. ดูแลอยู่ ในฐานะ 1 ใน PMU
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงแนวโน้มการวิจัยและนวัตกรรมระดับประเทศ และระดับภูมิภาคในอนาคตว่า ในทุก PMU จะเห็นภาพฐานการทำงานที่ได้มีการเดินหน้ามาในช่วงที่มีการปฏิรูประบบการวิจัยและนวัตกรรมในปี 2562 จนถึงปัจจุบันจะเห็นความเชื่อมโยง และใกล้เคียงกันก็คือ เรื่องของงานวิจัยที่จะตอบรับกับความต้องการ เป็นประเด็นหลัก ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในการบริหารทุนวิจัยของทุก PMU ในกรอบของคำว่า “ใช้ประโยชน์” ครอบคลุมได้หลายมิติ ในความพร้อมของนักวิจัย จะได้เห็นภาพของการทำงานในมิติทางวิชาการ การยอมรับในมาตรฐานระดับประเทศ ระดับสากล เกิดการสนับสนุนทุนวิจัยในส่วนการใช้งานที่ตอบรับในเชิงของโจทย์ที่ท้าทาย โดยเฉพาะในเชิงของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมเชิงพื้นที่ ก็จะเห็นภาพการทำงานครอบคลุมมากขึ้นในทุกโปรแกรม ส่วนประเด็นของการเลื่อมล้ำ ประเด็นสุขภาพ ประเด็นของการนำนวัตกรรมมาใช้ในเชิงพื้นที่ เป็นประเด็นที่ PMU พยายามมุ่นเน้นการมีส่วนร่วมในภาคธุรกิจ หรือในภาคประชาคมที่จะเข้ามาทำให้เกิดการเข้มแข็ง แล้วก็สามารถเสริมความพร้อมเชิงเทคโนโลยี ทำให้เกิดการนำเข้า เป็นต้นทุนของประเทศ อีกด้วย