งานวิจัยรางวัล วช. “พยาธิสรีรวิทยาทางประสาทของการเรียนรู้และความจำในภาวะอ้วนจากระดับเซลล์ถึงผู้ป่วย”

หนึ่งในภัยเงียบด้านสุขภาพที่คุกคามคนไทยคือ ภาวะอ้วนลงพุง โดยปัจจุบัน 1 ใน 3 ของประชากรไทยซึ่งอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปเป็นภาวะอ้วนลงพุง สาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน ซึ่งมักจะนั่งติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงและมีความเครียด

ศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิง สิริพร ฉัตรทิพากร หัวหน้าโครงการวิจัยพยาธิสรีรวิทยาทางประสาทของการเรียนรู้และความจำในภาวะอ้วนจากระดับเซลล์ถึงผู้ป่วย จึงได้เริ่มการศึกษาเกี่ยวกับภาวะโรคดังกล่าวในโมเดลสัตว์ทดลอง จนถึงคนไข้ เพื่อนำข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์เตรียมความพร้อมและป้องกันภาวะอ้วนลงพุง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก ประจำปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาครองได้สำเร็จ

ศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิง สิริพร ฉัตรทิพากร สังกัด ภาควิชาชีววิทยาช่องปากและวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก คณะทันตแพทย์ศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยพยาธิสรีรวิทยาทางประสาทของการเรียนรู้และความจำในภาวะอ้วนจากระดับเซลล์ถึงผู้ป่วยว่า ภาวะอ้วนลงพุง มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการลดลงของการเรียนรู้และความจำ อาการของภาวะอ้วนลงพุงที่พบส่วนใหญ่ มีไขมันสะสมรอบเอวที่มากขึ้น ระดับคอเลสเตอรอล หรือ ไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้น จะมีความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และตามมาด้วยการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

จากการศึกษาโครงการวิจัยนี้ ผ่านสัตว์ทดลองที่มีลักษณะคล้ายภาวะอ้วนลงพุงในคน ผ่านการบริโภคอาหารไขมันสูงแบบเรื้อรัง พบว่าสัตว์ทดลองที่มีการบริโภคอาหารไขมัน เป็นเวลานาน ทำให้เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญอาหาร ภาวะอ้วนที่มีการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งมีความผิดปกติของการทำงานในสมอง ส่งผลให้การเรียนรู้และความจำลดลง นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณและชนิดแบคทีเรียในลำไส้ เกิดขึ้นในระยะแรกของการบริโภคอาหารไขมัน ตามมาด้วยความผิดปกติในเลือดเช่น ไขมันสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และสุดท้ายเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง ซึ่งนำไปสู่การลดลงของการเรียนรู้และความจำในโรคอ้วนลงพุง ดังนั้นการลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน การลดไขมันในเลือด หรือ การลดภาวะการเสียสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ควรจะให้ผลประโยชน์ในการป้องกันการทำงานที่ผิดปกติของสมอง และการบกพร่องของการเรียนรู้และความจำ ในสภาวะภาวะอ้วนลงพุง 

ศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิง สิริพร ฉัตรทิพากร ภาควิชาชีววิทยาช่องปากและวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก คณะทันตแพทย์ศาสตร์  และ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า การศึกษาของโครงการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนภาวะอ้วนที่มีการดื้อต่ออินซูลิน โดยใช้ยาต้านโรคเบาหวานและยาลดไขมัน สามารถเพิ่มการเรียนรู้และความจำในภาวะอ้วนลงพุงได้ดีขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนชนิดของ ไมโครไบโอตา หรือ แบคทีเรียในลำไส้ โดยอาหารกลุ่ม พรีไบโอติกและโปรไบโอติก ยังช่วยฟื้นฟูการเรียนรู้และความจำ ในภาวะอ้วนที่มีการดื้อต่ออินซูลินได้ดี โดยช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองส่วน ฮิบโบแคมบัส (สมองที่มีผลต่อการเรียนรู้และความจำ) การทำงานของ ไมโตรคอนเดรียของสมองและลดการกระตุ้นของการทำงานของไมโครเกลีย ซึ่งเซลล์ที่ทำให้เกิดการอักเสบในสมองให้ลดลง ผลการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่พบในสัตว์ทดลอง มีลักษณะใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงในคนด้วย ทั้งนี้ ยังได้พบว่ามีการปรับเปลี่ยนปริมาณและชนิดแบคทีเรียในลำไส้ของคน ในการก่อโรคของผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุง โดยวิเคราะห์องค์ประกอบของจุลินทรีย์ในลำไส้ ของผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุง และพบความเป็นไปได้ในการใช้จุลินทรีย์ในลำไส้เป็นตัวบ่งชี้ความรุนแรงของภาวะอ้วนลงพุง

การศึกษาของโครงการวิจัยนี้จากสัตว์ทดลองถึงคน แสดงให้เห็นว่าพยาธิสภาพของสมอง ส่งผลให้การเรียนรู้และความจำที่ลดลงเกิดขึ้นในภาวะอ้วนลงพุง และวิธีการป้องกันหรือรักษาภาวะอ้วนลงพุง สามารถป้องกันการเสื่อมของสมองในภาวะอ้วนลงพุงได้ รวมถึงผลจากงานวิจัยอาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้ จุลินทรีย์ในลำไส้ และ การทำงานของไมโตคอนเดรียในเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยในการบ่งบอกความผิดปกติของการทำงานของสมองในคนได้อีกด้วย

สำหรับผลงานวิจัย “พยาธิสรีรวิทยาทางประสาทของการเรียนรู้และความจำในภาวะอ้วนจากระดับเซลล์ถึงผู้ป่วย” จะรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2565 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ