TOD กับการลดมลภาวะทางอากาศ ชี้ชัด! หมอกสีเหลืองของ “กรุงเตหะราน” แก้ไขด้วยการพัฒนา TOD
ปัญหามลพิษ และฝุ่นควันขนาดเล็กตั้งแต่ PM 2.5-10 ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ซึ่งมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน มลพิษเหล่านี้คือภัยพิบัติของประเทศ ถึงขนาดองค์การอนามัยโลกประกาศว่า “เตหะราน” เป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก อยู่อันดับที่ 12 จาก 26 เมืองใหญ่ ในปี พ.ศ. 2559 ทำให้เทศบาลกรุงเตหะรานต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อทำให้เมืองเตหะรานที่ปกคลุมไปด้วยม่านหมอกสีเหลือง กลับมาเป็นเมืองในอ้อมกอดขุนเขายอดหิมะที่สวยงามอีกครั้ง

ฟื้นฟูพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะโดยร่วมมือกับญี่ปุ่น
ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเตหะรานคล้ายกับ “กรุงเทพมหานคร” ที่มีรถสาธารณะบริการไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมพื้นที่รอบนอกเมือง ในขณะที่สภาพภูมิประเทศของเตหะรานมีสภาพเป็นแอ่งกระทะ ท่ามกลางกลุ่มเทือกเขาแอลโบร์ซ คล้ายกับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขาถนนธงชัย กับเทือกเขาขุนตาล
ซึ่งพื้นที่ ที่มีภูเขาโอบล้อมนั้นเปรียบเสมือนแอ่งกระทะ ที่กักอุณหภูมิ และฝุ่นผง PM 2.5-10 ไม่ให้ถ่ายเทออกไปโดยง่าย และถ้าหากพื้นที่นั้นๆ มีปล่อยมลพิษทางอากาศเพิ่มเติม เช่นฝุ่นควันจากรถยนต์หรือการเผาไหม้ จะยิ่งทำให้เกิดสภาพอากาศที่ทั้งเมืองปกคลุมด้วยมลพิษ มีฝุ่นควันสะสมเป็นระยะเวลานานกว่าพื้นที่อื่น อย่างเช่นจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสบปัญหาฝุ่นควันปกคลุมในช่วงฤดูหนาวของทุกปี
ปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเตหะราน มีต้นตอจากหลายแหล่ง ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม การใช้น้ำมันขาดสารเสริมประสิทธิภาพ และฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถยนต์ และสิ่งที่น่าตกใจคือกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นฝุ่นควันที่มาจากระบบขนส่งมวลชนแบบรถบัสโดยสาร ที่มีให้บริการในพื้นที่ประมาณ 7,600 คัน แต่มีมากกว่า 5,000 คัน ที่ปล่อยควันเสียเกินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่กำหนด ในขณะที่แต่ละวันมีรถยนต์ส่วนบุคคลวิ่งในเมืองราว 4.2 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนรถทั้งหมดที่วิ่งในเมืองเตหะราน หรือหากคิดในอีกทางหนึ่งก็เท่ากับว่ามีประชาชนราว 80 เปอร์เซ็นต์เลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลก็ได้เช่นกัน
ทำให้เทศบาลกรุงเตหะราน เริ่มหาหนทางในการพัฒนาเมืองตามแนวทาง TOD โดยร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA : The Japan International Cooperation Agency) เพื่อเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง TOD เพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และเป้าหมายสูงสุด คือลดมลพิษทางอากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน
ดร.ชิเกะฺฮิสะ มัตสึมูระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองตามแนวทาง TOD และผู้นำการสำรวจเมืองเตหะรานของ JICA เล่าถึงสภาพและแนวทางในการพัฒนาเมืองไว้ว่า “ทั้งเมืองเตหะรานและเมืองโตเกียว มีทั้งขนาดและจำนวนประชากรใกล้เคียงกันมาก แต่หากเทียบสภาพปัญหา โตเกียวเคยผ่านช่วงเวลาที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในโตเกียวนั้นสภาพการจราจร และสิ่งแวดล้อมเลวร้ายยิ่งกว่าเมืองเตหะรานในปัจจุบัน ฉะนั้นการพัฒนาเมืองเตหะรานจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ แต่ในแง่การพัฒนาจะต้องทำงานในรูปแบบของการบูรณาการพื้นที่รอบสถานีขนส่ง อาศัยความความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ส่งเสริมพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ที่จำเป็น”
สำหรับกรุงเตหะรานอาจมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครือข่ายเส้นทางรถบัส เชื่อมโยงไปยังพื้นที่พักอาศัยรอบนอก เป็นแนวทางการพัฒนาที่มีความสะดวกสบาย และเหมาะสมกับพื้นที่ ที่เป็นอยู่ควบคู่กับการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงข่ายทางเดินเท้า มีการกำหนดรัศมีที่มีความเหมาะสมจากสถานีขนส่งสาธารณะอยู่ที่ 750-800 เมตร (จากปรกติ 600 เมตร) ต้องมีการบูรณาการสถานี ป้ายรถเมล์ และอาคารสถานีขนส่งสาธารณะ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง TOD เช่นพื้นที่สีเขียว การใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ลดตัวการปล่อยมลพิษ เพิ่มระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
หลังจากเริ่มดำเนินการศึกษาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะตามแนวทาง TOD และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่มีปัญหา เช่น แผนการพัฒนาระบบขนส่งรถไฟฟ้าระบบราง เพิ่มจากเดิมเป็น 2 เท่า และขยายเส้นทางไปสู่รอบนอกเมืองมากขึ้น สิ่งที่เทศบาลเมืองเตหะรานดำเนินการควบคู่กัน คือ การออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เพื่อลดการก่อมลพิษในอากาศ เช่น ดำเนินการย้ายโรงงาน ที่ก่อมลพิษทางอากาศจำนวนกว่า 25 บริษัทออกนอกตัวกรุงเตหะราน มีธุรกิจ 1,000 กว่าแห่งได้รับคำเตือนให้ปรับปรุงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากภาครัฐ
ดำเนินโครงการเขตปล่อยมลพิษต่ำ (LEZ : Low emission zone) โดยกำหนดรถที่สามารถวิ่งในตัวเมืองในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่ 06.00 – 19.00 น. ต้องมีสติ๊กเกอร์ที่ได้จากการตรวจสอบการปล่อยมลพิษทางอากาศไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้รถเก่าที่ไม่ผ่านมาตรฐานการปล่อยมลพิษทางอากาศ ที่มีจำนวนมากกว่า 4 แสนคัน ไม่สามารถวิ่งในเมืองได้ และเปิดทางให้กับรถรุ่นใหม่ที่ปล่อยมลพิษต่ำ ได้แก่ รถพลังงานไฟฟ้า รถยนต์แบบไฮบริด
ในขณะเดียวกันกฎข้อบังคับดังกล่าว ก็เป็นตัวยกเครื่องรถบัสโดยสารที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ทั้งของภาครัฐ และเอกชนจำนวนกว่า 5,000 คัน ให้เปลี่ยนเป็นรถรุ่นใหม่ หรือทำการซ่อมแซมเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ปล่อยมลพิษไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด มาตรการเหล่านี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2559 และเริ่มเห็นผลจากมลพิษทางอากาศที่ลดลงในทันที ทำให้ปลายปีเดียวกัน มีการออกมาตรการเพิ่มระยะเวลาควบคุมรถที่ไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมห้ามวิ่งในเมืองจาก 13 ชั่วโมง เป็น 24 ชั่วโมง
หลังจากดำเนินโครงการได้ 3 ปี ในปี พ.ศ. 2561 พบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกรุงเตหะราน ลดลงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ มลพิษทางอากาศค่าฝุ่นควันลดลงถึง 21 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่โครงการพัฒนาตามแนวทาง TOD นั้นมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะสูงจากเดิมราว 10 เปอร์เซ็นต์ หลังเริ่มดำเนินการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะในระยะเริ่มต้น แต่คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นอีก หากการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายทางเดินเท้าเสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งมีปริมาณมลพิษทางอากาศลดลงจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ จนจูงใจให้ประชาชนกล้าที่จะออกมาเดินเท้า และใช้ระบบขนส่งสาธารณะเดินทางมากขึ้น
นายโมฮัมหมัด เอสลามี รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและการพัฒนาเมือง ประเทศอิหร่าน กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาเมืองเตหะรานในอนาคตว่า “เตหะรานเป็น 1 ใน 10 มหานครชั้นนำของโลก แต่มีประชากรเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษทางอากาศสูงถึง 4,500 คนต่อปี เราจึงจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแน่วแน่ ควบคู่กับการดำเนินนโยบายการพัฒนาการขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง และ TOD เป็นแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้ระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะคุณภาพสูง มากกว่ารถยนต์ส่วนตัว เรามีการพิจารณาสร้างโซน TOD 300 แห่งทั่วกรุงเตหะราน โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดคือ 45 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป”
ขอบคุณข้อมูลจากบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด, www.tehrantimes.com