บริษัทผู้ผลิตชั้นนำจากประเทศตุรกีเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ พร้อมคณะผู้แทนการค้า
กรุงเทพฯ ประเทศไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 : ในวันที่ 19-22 กุมภาพันธ์ สมาคมผู้ส่งออกตุรกี (TIM) ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์แห่งประเทศตุรกีและสหภาพผู้ส่งออกอนาโตเลียกลาง (OAIB) จะจัดงาน “การเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทนการค้าตุรกี” โดยบริษัทชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศตุรกีจะเข้าร่วมคณะผู้แทนการค้า เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและผลิตภัณฑ์ของพวกเขาต่อธุรกิจที่มีศักยภาพเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศไทย
ส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้กรอบของการเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทนการค้า คือการจัดงานประชุมธุรกิจทวิภาคี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ งานประชุมจะเริ่มด้วยการกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ตามด้วยการสร้างสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจจากประเทศตุรกีและประเทศไทย กิจกรรมนี้ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและจับคู่ธุรกิจเพื่อสนับสนุนความร่วมมือพันธมิตรระหว่างบริษัทจากทั้งสองประเทศ ผู้ส่งออกชั้นนำจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ควบคุมสภาพอากาศ ยารักษาโรคและเคมีภัณฑ์สิ่งทอและวัตถุดิบ รวมถึงผู้ส่งออกสินค้าการเกษตรและปศุสัตว์ จะเข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมของพวกเขาต่อธุรกิจที่มีศักยภาพเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศตุรกีและประเทศไทยนั้นมีความแข็งแกร่งมาตั้งแต่ในอดีต และได้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมในช่วงหลังการระบาดใหญ่ การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศขยายตัวถึง 35% ในปี พ.ศ. 2564 และ 18% ในปี พ.ศ. 2565 จนมีมูลค่ากว่า 1,933 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกจากประเทศตุรกีมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 28% ในปี พ.ศ. 2564 และ 20% ในปี พ.ศ. 2565 จนถึง 282.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีสัดส่วนการส่งออกมายังประเทศไทยเป็นอันดับ 1 โดยมีมูลค่า 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ภาคส่วนอื่นๆ ที่มีการขยายตัวสูงในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่ อัญมณี (181%), สินค้าประมงและปศุสัตว์ (90%), สินค้าจากซีเมนต์ แก้ว เซรามิก และดิน (40%), อากาศยานและการป้องกันประเทศ (38%), เหล็ก (33%) และธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืชน้ำมัน (30%)
“ประเทศตุรกีประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการค้าระหว่างประเทศในช่วงหลังการระบาดใหญ่ หากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกของประเทศตุรกีมีการขยายตัวมากกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกทั่วโลกถึง 10% ความหลากหลายของสินค้าและอัตราการผลิตเพิ่มมากขึ้น จำนวนชนิดสินค้าสำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้นจนถึง 5,000 ชนิด และจำนวนบริษัทส่งออกเพิ่มขึ้นจนเกิน 100,000 ราย” คุณ Nihat Uysalli ประธานคณะกรรมการสหภาพผู้ส่งออกอนาโตเลียกลาง กล่าว
“การส่งออกมายังประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์, ยาและเคมีภัณฑ์, เหมืองแร่และโลหะ, เครื่องจักร และเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเติบโตของการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจจะช่วยให้ประเทศของเราฟื้นตัวได้โดยเร็ว”
คุณสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมธุรกิจทวิภาคี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 9.00-17.30 น. ได้ที่เว็บไซต์ https://www.midas-pr.com/turkiye-trade-delegation/