สร้างชื่อเสียงระดับโลก! ‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ ศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ “Bene Merito” ในฐานะศิลปินที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-โปแลนด์

สถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย นำโดย อาร์ตูร์ ดโมฮอฟสกี (H.E. Artur Dmochowski) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย จัดพิธีมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ “Bene Merito” แก่ ณัฐ ยนตรรักษ์ นักเปียโนคลาสสิกชาวไทยในฐานะศิลปินที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-โปแลนด์ โดยในงานพิธีรับมอบเหรียญฯ ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนระดับสูงทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมเป็นเกียรติในงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อาทิ ชวน หลีกภัย, สนั่น อังอุบลกุล, อัมรินทร์ คอมันตร์, ภัทรา พุฒิพรรณพงศ์, ดร.นริศ ชัยสูตร, สุพัตรา จิราธิวัฒน์, ต้องใจ ธนะชนานันท์, พนิตตา ศรีสะอาด และอีกมากมาย ณ ศาลาสุทธสิริโสภา สถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย

โดย เครื่องอิสริยาภรณ์ “Bene Merito“ นี้เป็นรางวัลที่ทางกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐโปแลนด์มอบให้แก่บุคคลผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโปแลนด์กับประเทศใดๆ ในโลก ซึ่งที่ผ่านมา ณัฐ ยนตรรักษ์ ได้จัดแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวเปียโนนำบทเพลงลิเกไทยในแบบฉบับของดนตรีตะวันตกออกแสดงทัวร์ต่างประเทศมากมาย หนึ่งในงานแสดงอันทรงเกียรติคืองานแสดงคู่กับนักเพอร์คัสชั่นแนวหน้าของโปแลนด์ มร.วูกัช คูเชดโว ณ Witold Lutoslawski Concert Hall of Polish Radio เมืองวอร์ซอว์ หอแสดงอันดับต้นของยุโรปตะวันออกที่ต้อนรับศิลปินระดับโลกมาแล้วมากมาย

โดย ณัฐ ยนตรรักษ์ นับเป็นศิลปินไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเชิญให้แสดงในหอแสดงอันทรงเกียรติแห่งนี้ แต่ละการแสดงของเขาได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานสำคัญๆ ของประเทศมาร่วมงานอย่างล้นหลาม ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศมากมายที่นำมาสู่การต่อยอดทางธุรกิจจวบจนปัจจุบัน อาทิ การจัดการแข่งขันเปียโนระดับนานาชาติของประเทศไทย (Siam International Piano Competition) โดย โรงเรียนดนตรีณัฐ (Nat Studio) ที่ได้รับความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำโปแลนด์เชิญศิลปินและอาจารย์จากวิทยาลัยดนตรีชั้นนำของประเทศโปแลนด์มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขัน เป็นการต่อยอดให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสไปศึกษาต่อยังสถาบันในเวลาต่อมา

นอกเหนือจากการเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ “Bene Merito” ล่าสุดแล้ว ‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ ยังได้รับรางวัลและเครื่องอิสริยาภรณ์มาแล้วมากมาย อาทิ รางวัลศิลปาธร (สาขาคีตศิลป์) ประจำปี พ.ศ. 2549, เครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากประธานาธิบดีอิตาลี เพื่อยกย่องบุคคลที่มีผลงานในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอิตาลีและประเทศอื่นๆ ที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ (Cavaliere dell’Ordine della Stella d’Italia), เครื่องอิสริยาภรณ์จากกระทรวงวัฒนธรรมและมรดกแห่งชาติประเทศโปแลนด์ (Meritorious for Polish Culture) นับเป็นอัจฉริยะบุคคลด้านดนตรีที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยไว้มากมาย