ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จับมือศิลปินไทย แปลงชุดยูนิฟอร์มเก่าเป็นผลงานศิลปะ
กรุงเทพ, 26 เมษายน 2566 – ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินหญิงแถวหน้า ของไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ เปิดตัวแคมเปญ “Turning Trash to Treasured Art” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อความยั่งยืน Waste to Wonder ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
โดยนำชุดยูนิฟอร์มสาขาเก่าจำนวน 4,903 ชุดมาอัปไซเคิลเป็นผลงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า “Clothespocalypse” และกระเป๋าใบใหม่หลากหลายแบบ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และดีไซน์พิเศษ โดยมีชุมชนผู้ตัดเย็บจากจังหวัดสมุทรสาครเป็นผู้ผลิต อาทิ กระเป๋าเป้ กระเป๋าถือ ถุงผ้าพกพา เคสสาหรับโน๊ตบุ๊ก กระเป๋าใส่ขวดน้ำ และกระเป๋าอเนกประสงค์ เป็นต้น พนักงาน ลูกค้าและผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อสินค้าแบบที่ชื่นชอบได้ โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่าย จะมอบให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
นางสาวปิยพร รัตน์ประสาทพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะจัดการผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนชุมชนของเรา การทำงานร่วมกับ WISHULADA ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการให้ชีวิตใหม่กับชุดยูนิฟอร์มแทนที่จะปล่อยทิ้งไปให้เป็นขยะในหลุมฝังกลบ ยังเป็นการสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย นับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่นมั่นของธนาคารในการส่งเสริมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็นับเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
นางสาววิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ กล่าวว่า “เอ๋สร้างสรรค์ผลงานศิลปะทุกชิ้นจากวัสดุเหลือใช้ทุกประเภทเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเอ๋เชื่อว่าพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับการวางแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น กระบวนการผลิต จนถึงปลายน้ำ เช่น ผู้บริโภค เพื่อนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่จะช่วยลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ที่ถูกทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด
เอ๋รู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมทำงานกับยูโอบีในโครงการนี้ เพราะนอกจากเอ๋จะรู้จักยูโอบีมานานในฐานะผู้สนับสนุนวงการศิลปะและศิลปินไทยแล้ว ยูโอบีเองยังให้ความสำคัญและช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร เอ๋หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในการใช้วัสดุเหลือใช้รอบๆ ตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
ผลงานศิลปะจัดวาง ได้รับการสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด “Clothespocalypse” แสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงประมาณ 1.2 พันล้านตันต่อปี โดยศิลปินต้องการสื่อความว่า เราทุกคนต้องคิดและมีสติในการใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ผลงานศิลปะ “Clothespocalypse” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 9 มิถุนายน 2566 ที่ชั้น 1 อาคาร ทาวเวอร์ ยูโอบี พลาซา กรุงเทพ สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ชุมชนผู้ตัดเย็บจากจังหวัดสมุทรสาครยังได้ผลิตสินค้าอัปไซเคิล 8 แบบจากชุดยูนิฟอร์มเก่าในครั้งนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานตัดเย็บที่พิถีพิถัน ดีไซน์สวยและเลือกเป็นเจ้าของในแบบที่ชื่นชอบได้โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่าย จะมอบให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็กเพื่อสมทบโครงการ Angel Miracle ปาฏิหารย์ต่อลมหายใจ เพื่อจัดซื้อตู้อบช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรงและปลอดภัย สามารถซื้อสินค้าอัปไซเคิลได้ที่บริเวณนิทรรศการและทางออนไลน์ ผ่าน www.uob.co.th จนกว่าสินค้าจะหมด
ความร่วมมือกับ WISHULADA ในโครงการนี้ คาดว่าจะมีค่าก๊าซเรือนกระจกที่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากหลุมฝังกลบเป็นจำนวน 1,965.30 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 137.646 ต้น ความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านความยั่งยืนของธนาคารยูโอบี ซึ่งมุ่งจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของธนาคารและคนรุ่นต่อไปในอนาคต