AIS ปักหมุดจุดจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ รายแรกของ SEA ดึง Blockchain ช่วยเสริมศักยภาพ จับมือองค์การก๊าซเรือนกระจกฯ พร้อม 6 องค์กร Green Partnership แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co พร้อมใช้ศักยภาพพัฒนาประเทศเพื่อขับเคลื่อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม ตอกย้ำความมุ่งมั่นซึ่งคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม โดย AIS เล็งเห็นขีดความสามารถของ Blockchain ในการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนา Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ภายใต้ภารกิจ “คนไทยไร้ E-Waste”
โดยนำศักยภาพโครงข่ายอัจฉริยะ กับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มา Redesign Ecosystem หรือพัฒนากระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ผู้ทิ้งจนถึงโรงงานรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น ผ่านกระบวนการ Track and Trace โดยสามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนแนวทางการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการรีไซเคิล E-Waste อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล พร้อมนำร่อง 6 องค์กร Green Partnership เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากสถานการณ์โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วน สิ่งที่ตามมาคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัลก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้นเราจึงทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงโทษภัยของขยะ E-Waste ในขณะเดียวกันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดเก็บและทำลาย E-Waste อย่างถูกวิธี ทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ตั้งจุดรับทิ้งและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น เราจึงขยายผลไปอีกขั้นด้วยการ Redesign Ecosystem เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถลงมือบริหารจัดการ E-Waste ในองค์กรเองได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายพนักงานและลูกค้าของแต่ละองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะ E-Waste กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ โดยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งมีการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อให้เห็นผลอย่างชัดเจน”
ทางด้าน นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Scores ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการลงมือทำในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถแชร์ในโซเชียลและแสดงตัวตนในโลก Metaverse ได้ โดย AIS ยังมีแผนพัฒนาให้ Carbon Scores ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย”
ในขณะที่ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในฐานะองค์กรหลักที่มีภารกิจในการสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มุ่งสู่ Net Zero GHG Emission และเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านก๊าซเรือนกระจก การทำงานร่วมกับ AIS ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเชื่อมต่อระบบการทำงานและพฤติกรรมของทุกคนให้เห็นถึงปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ มีความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูล กิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับแพลตฟอร์ม ที่องค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
สำหรับพันธมิตรเครือข่าย Green Partnership ทั้ง 6 องค์กรที่จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสผ่าน Blockchain ประกอบไปด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ที่จะเข้ามาเริ่มใช้แพลตฟอร์ม E-Waste+ เพื่อส่งต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคมในวงกว้างต่อไป
นายประดิษฐ มหาศักดิ์ศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจเกิดใหม่ บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด กล่าวว่า “ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือจากพนักงานในองค์กรเพื่อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการได้ทำงานร่วมกับเอไอเอสที่เป็นพาร์ทเนอร์กันมานาน และมีเป้าหมายตรงกันในการลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้มีความมั่นใจในกระบวนการจัดการ E-Waste อีกทั้งสามารถตรวจสอบสถานะของกระบวนการนำส่งได้ในแต่ละขั้นตอน ไม่เพียงความร่วมมือในครั้งนี้เท่านั้น แต่เด็นโซ่เชื่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกับเอไอเอส ในการปรับใช้ E-Waste ที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต”
ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า “ทางสวนป๋วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับเอไอเอสในการร่วมมือแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งมองถึงสิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ต้องสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ให้กับคนส่วนใหญ่ โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม E-Waste+ ถือเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้อีกด้วย โดยหลังจากนี้ มธ. และเอไอเอส ยังได้จับมือร่วมกับเพื่อพัฒนานาโปรเจ็คต่อไปในการนำขยะมาสร้างมูลค่าเพื่อสร้างความยั่งยืน”
โดย นายเอกพันธ์ สิทธิไตรวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจและบริหารกลาง บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า “ทางบริษัทให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการสร้างความรู้ให้พนักงานเข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างไร และขยายผลจากการสร้างการตระหนักรู้ภายในองค์กรสู่สังคม พร้อมร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อจัดการการทิ้ง E-Waste อย่างถูกวิธี โดยได้ร่วมกับ AIS มาเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นการร่วมมือที่ดีอย่างมาก สำหรับช่องทางใหม่การทำแพลตฟอร์ม E-Waste+ มีความน่าสนใจอย่างยิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน”
นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มยุทธศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธนาคารออมสินได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเพื่อต้องการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลือกใช้พลังงานทดแทน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงมองเห็นความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างเอไอเอส ในการกำจัด E-Waste ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน นำร่องที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีพนักงานจำนวน 5,000 กว่าคน พร้อมผลักดันไปสู่สาขาต่างๆ โดยมีสาขาทั่วประเทศกว่าพันแห่ง และมีผู้ใช้บริการจำนวนมากถึง 23 ล้านราย เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเชิญชวนให้ลูกค้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการสร้างมลพิษ สร้างโลกให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น”
สำหรับ ดร. รนน โชติพงศ์ ผู้ร่วมบริหารฝ่ายบริหารอาคารและงานกลาง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “ธนาคารกสิกรไทยตระหนักดีว่าการจัดการ E-Waste เป็นเรื่องที่ยาก แต่เป็นโอกาสที่ดีที่ได้พบพาร์ทเนอร์อย่างเอไอเอส ที่มีศักยภาพโดยมีกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส โดยการได้ร่วมเป็น 1 ในสมาชิกนำร่องของโปรเจ็กนี้ ทำให้คาดว่าในอนาคตคงมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเพื่อร่วมจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป”
AIS ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อเป็นแกนกลางด้านองค์ความรู้และจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2019 เพื่อขับเคลื่อนสังคมและยกระดับเพิ่มขึ้นอีกขั้นด้วยการใช้ความสามารถของดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการสร้างระบบการจัดการ E-Waste ใหม่ด้วย Blockchain ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสิ่งแวดล้อมและโลกนี้ให้ดีขึ้น
สำหรับองค์กรใดสนใจใช้งาน แพลตฟอร์ม E-Waste+ เข้าร่วมเป็นเครือข่าย Green Partnership สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: aissustainability@ais.co.th หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง https://ewastethailand.com/ewasteplus