เครือข่าย RoLD2020: The Resilient Leader เปิดตัวโครงการสร้างสรรค์เพื่อความเข้าใจในสังคมแม้คิดต่าง “LET’S GET TOGETHER” #คิดต่างไม่เห็นเป็นไร
กลุ่มผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader กลุ่ม J (Justice) จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดตัวโครงการ “LET’S GET TOGETHER” #คิดต่างไม่เห็นเป็นไร เชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านแบบทดสอบ “Quiz เปิดใจ มองต่างมุม” ในประเด็นการอยู่ร่วมกันของคนคิดต่างว่าจะสามารถสื่อสารกันได้อย่างไร หวังเป็นแนวทางลดอคติ สร้างความเข้าอกเข้าใจและความเคารพในความต่างของกันและกัน
ปัจจุบันความขัดแย้งในหมู่คนที่มีความเห็นต่างกันโดยเฉพาะในระหว่างคนต่างรุ่น ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างจนไม่ได้จำกัดอยู่แต่เรื่องการเมืองแต่ครอบคลุมประเด็นทางสังคมอื่นๆ ด้วย กระทบทั้งคนในองค์กรเดียวกันและแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน สะท้อนทั้งจากการแสดงออกผ่านโลกออนไลน์และออฟไลน์ เช่น เหตุการณ์ทัวร์ลง หรือเปิดเครื่องด่า ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมในหลายแง่มุม บางครั้งการเปิดบทสนทนา อาจนำไปสู่สภาวะที่ต่างฝ่ายไม่ต้องการรับฟังซึ่งกันและกัน นำไปสู่ความอึดอัดและเกิดความไม่ไว้วางใจกันในสังคม
นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมและการแสดงออกทางความคิดนั้นมีรูปแบบที่แปลกใหม่และแตกต่างไปจากความคุ้นเคยดั้งเดิมมาก แสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างกลุ่มบุคคลในสังคมที่มีความต่างในช่วงวัย และต่างประสบการณ์ จึงเกิดคำถามว่า ความไม่คุ้นชินเหล่านี้จะตอกย้ำให้คนต่างรุ่นยิ่งมองเห็นกันเป็นอื่นมากยิ่งขึ้นหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความร้าวลึกหรือความเกลียดชังมากขึ้นกับคนต่างความคิดในสังคม จึงเป็นที่มาของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจคนที่คิดต่าง และเข้าใจพื้นฐานที่มาที่ไปของคนแต่ละรุ่น เพื่อจะมองเห็นทั้งจุดต่าง จุดร่วมสะท้อนภาพของสังคมที่เกิดขึ้น
เราจึงขอเชิญชวนเปลี่ยนมุมมองด้วยการเข้าร่วมโครงการ “LET’S GET TOGETHER” ผ่านแบบทดสอบ “Quiz เปิดใจ มองต่างมุม” ที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ค้นหาจุดร่วมในความต่าง หามุมเหมือนในความขัดแย้ง ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนต่างมุม ต่างวัย ได้ปรับตัว หรือจูนคลื่นเข้าหากัน และสื่อสารถึงกันได้ แล้วทุกคนอาจจะพบว่า “เรา..ไม่ต่างกันอย่างที่คิด..และแม้จะต่างเราก็ไปด้วยกันได้ดีกว่าที่เห็นอยู่ได้”
เริ่มต้นง่ายๆ เพียงคลิกเพื่อทดลองด้วยตัวเองที่ https://tijrold.org/rold-in-action/letsgettogether/ คำตอบที่ได้จะช่วยพัฒนาฐานข้อมูลในการเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคมไทย เมื่อทำแบบสอบถามเสร็จก็จะได้เห็นข้อมูลสถิติของสิ่งที่ผู้ตอบแบบทดสอบคนอื่นในรุ่นเดียวกันและต่างรุ่นตอบทันทีพร้อมข้อสังเกตที่น่าสนใจ ทั้งยังมีข้อแนะนำที่ชวนให้ทำความเข้าใจภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่อาจส่งผลต่อโลกทัศน์ของคนแต่ละรุ่นอีกด้วย โดยสถาบันฯ จะมีการเก็บข้อมูลนับจากนี้ไปอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจคนในสังคมชัดเจนมากขึ้น
หลังจากทำแบบทดสอบแล้ว ยังสามารถศึกษาคู่มือ 4E: วิธีสื่อสารข้ามรุ่น คู่มือสำหรับการสื่อสารกับคนต่างวัย ที่อาจจะมีมุมมองขัดแย้งกันได้ที่ https://tijrold.org/book/lets-get-together/
วันนี้ การสร้างความเปลี่ยนแปลง สามารถเริ่มได้ที่ตัวเรา #LetsGetTogether #คิดต่างไม่เห็นเป็นไร