กินอย่างไร…ให้ปลอดภัยยั่งยืน

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ควรตระหนักและรู้ถึงที่มาของการผลิตและการบริโภคให้ปลอดภัยแบบยั่งยืน เพื่อเป็นทางออกในการกินของมนุษย์ในยุคที่กำลังถูกธรรมชาติเอาคืน Urban Creature และ Oxfam in Thailand จับมือกันชวนผู้คนแวดวงอาหาร มาเสวนาในงาน ‘The Last Meal : Our Last Chance to Eat Right’ เมื่อวันก่อน ที่ร้าน Na Café at Bangkok 1899 ให้รู้ว่ากินอาหารหมดจานคงไม่พอ แต่ต้องกินเพื่อไปต่อกับโลกใบนี้ ในหัวข้อ “อนาคตและความยั่งยืนของโซ่อาหารไทย” ดำเนินรายการโดยคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

การเสวนาภายในงาน นอกจากเป็นการทำความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ยังเป็นพื้นที่ให้คนตลอดสายพานอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ผู้ออกแบบนโยบาย ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค ได้หาทางออกร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ผ่านประเด็นที่น่าสนใจมากมาย อาทิ Food Safety (การตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร), Ocean Sustainability (การรณรงค์ไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนและในแหล่งเพาะพันธุ์), Air Pollution (ไก่ไร่ฝุ่น) และ Equality (ความเท่าเทียมทางการค้าและแรงงาน)


พัทธมน รุ่งชวาลนนท์ ตัวแทนจาก UNDP Accelerator Lab Thailand ให้ความสำคัญของการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร โดยยกเคสภาคใต้ การสร้าง Trust ให้ผู้บริโภคในภาคใต้, ระบบนิเวศด้านอาหารในท้องถิ่น (ยะลา), ให้คนในพื้นที่รู้ที่มาของแหล่งอาหาร และโมเดลสมาพันธ์เกษตรยั่งยืน


นิทัสมัย รัญเสวะ ตัวแทนจาก Thailand Policy Lab หลังจากแนะนำการทำงานของ Thailand Policy Lab ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ของ UNDP กล่าวถึงนวัตกรรมที่นำมาใช้ออกแบบนโยบาย เพื่อดึง Stakeholder มามีส่วนร่วม “เราจะดูก่อนว่าแต่ละนโยบายตั้งแต่ต้นจนจบ ในแต่ละจุดนั้นสามารถทำได้อย่างไรบ้าง สามารถนำนวัตกรรมอะไรมาใช้ได้บ้าง วิธีการไปสู่คำตอบที่เราต้องการ เราต้องรู้ว่าทำไมผู้บริโภคต้องการแบบนี้ เมื่อเข้าใจข้อมูลอย่างแท้จริง จึงไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหา”


สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ ผู้บริหารร้าน Lemon Farm ให้มุมมองเรื่องอาหารปลอดภัยในประเทศไทยเอาไว้อย่างน่าคิด “ต้องถามตัวเองก่อนว่า ขอบข่ายของเราคือแค่ไหน ครอบครัวเรา ลูกของเรา อยากให้ปลอดภัยแค่ไหน เพราะจริงๆ มนุษย์เป็นธรรมชาติที่สะอาด แม้จะเป็นมนุษย์ที่มีการพัฒนาการมาเรื่อยๆ แต่โครงสร้างก็ยังเป็นมนุษย์ถ้ำ ไม่ได้เปลี่ยนเยอะ ฉะนั้นสารเคมีหรืออะไรที่แปลกปลอมเข้ามา ร่างกายจะไม่รู้จัก ไม่รู้จะทำยังไงมันก็เลยสะสมสารที่ก่อมะเร็งไปเรื่อยๆ เราควรจะเลือกทานอาหารที่ดีต่อร่างกายที่สุด เพราะอาหารเป็นจุดตั้งต้นของชีวิตที่ดีของสมอง สุขภาพ และความสุข ก่อนที่จะนำมันเข้าไปในร่างกายจะต้องไตร่ตรองให้ดี เพราะร่างกายเรามีค่า อาหารเกษตรอินทรีย์หรือออแกนิค น่าจะเหมาะกับร่างกายเราที่สุด”


การตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร ได้อ้างอิงถึง “ส้ม” พืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด นอกจากนี้ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ตลาดที่ต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีมากกว่าปกติ เพื่อผลิตส้มได้ตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ ผู้บริโภคจึงควรมีสิทธิ์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างถูกต้อง มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อทราบแหล่งที่มาของส้ม กระบวนการผลิตส้มตลอดปีทั้งในและนอกฤดู

ขุนกลาง ขุขันธิน เชฟผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปไม่ใส่สารเคมี Trust me I’m CHEF ในฐานะผู้เลือกอาหารให้ผู้บริโภค ได้แบ่งความปลอดภัยในอาหารเอาไว้ 3 อย่าง “อันแรกก็คือปลอดภัยในขบวนการผลิต ขบวนการทำ ปลอดภัยแบบไม่มีเชื้อโรค ไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ ในขบวนการผลิต พื้นที่ผลิตสะอาด ปลอดภัยที่สอง คือมีสารปนเปื้อนได้ในค่าที่ไม่เกินกำหนด ซึ่งค่าที่ว่าแต่ละที่มาก็จะต่างกัน ปลอดภัยที่สาม คือปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม ในความปลอดภัยเหล่านี้มันก็จะวนกลับมาที่หนึ่งสองสาม ยังไงก็ตามสารหรือสิ่งแปลกปลอมก็จะสะสมไปเรื่อยๆ จากการบริโภค”
การเสวนากล่าวถึงการรณรงค์ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยวางขายผลิตภัณฑ์ ‘ไก่ไร่ฝุ่น’ เพื่อผลักดันเรื่องควันพิษ เพราะสาเหตุหลักๆ ของภาคเหนือที่เปลี่ยนไปมาจากการ ‘เผาไร่’ เพื่อปรับหน้าดิน โดยเฉพาะไร่ข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมที่นิยมเพาะปลูกบริเวณที่สูง เพราะมีผู้ผลิตอาหารรายใหญ่พร้อมรับซื้อเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรในหลายพื้นที่ภาคเหนือจึงนิยมปลูกข้าวโพด ซึ่งวิธีจัดการกับซังข้าวโพด หรือต้นข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวแล้วได้ง่ายและเร็วที่สุดก็คือ ‘การเผา’


“ไก่” หนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจ มีปริมาณการผลิตและบริโภคสูงกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปอันดับ 1 ของโลก และไก่เนื้อเป็นอันดับ 8 ของโลก ตั้งแต่ปี 2558 ความต้องการบริโภคไก่ไทยไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ และปี 2563 ความต้องการบริโภคไก่ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1.7 ล้านตัน และ ข้าวโพด คือพืชเศรษฐกิจของไทย และเป็นอาหารหลักของไก่ที่ถูกจัดการด้วยวิธีเผา จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภค รวมถึงปัญหา PM2.5
ตามด้วยประเด็น การรณรงค์ไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนและในแหล่งเพาะพันธุ์ เมื่อ พ.ศ.2504 เรืออวนลากจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยได้ชั่วโมงละ 298 กิโลกรัม ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2555 ลดลงเหลือชั่วโมงละ 18.2 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณปลาที่จับได้ ยังเป็นลูกปลาเศรษฐกิจที่ยังโตไม่เต็มวัยถึงร้อยละ 34.47 โดยปกติเวลาพูดถึงสัตว์น้ำวัยอ่อน จะยึดเกณฑ์การออกลูกหนึ่งครั้ง เพื่อให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสขยายพันธุ์ก่อนจะจับมาบริโภคเป็นอาหาร การแก้ไขประเด็นสัตว์น้ำวัยอ่อนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนก็พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างรอบด้าน ภาครัฐก็ออกกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น กลุ่มชาวประมงในหลายจังหวัดก็ปรับเปลี่ยนวิธีจับสัตว์น้ำ

การค้าอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) เป็นอีกหนึ่งหัวใจของการเสวนา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม นั่นคือ การพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ผลิต (เกษตรกร) โดยการเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และประกันราคาที่เป็นธรรม, ไม่ใช้แรงงานเด็ก และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการผลิตและการค้าของผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะผู้หญิงและชาวพื้นเมือง, กระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการค้าโดยชอบธรรม, เพื่อเป็นตัวอย่างของการค้าที่โปร่งใส

ช่วงท้ายการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตและความยั่งยืนของโซ่อาหารไทย” ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซัก-ถาม แสดงความคิดเห็นผ่านมุมมองและประสบการณ์ของตัวเอง ก่อนจะไปอิ่มอร่อยกับอาหารจานเด่น จากเชฟ Na Café at Bangkok 1899 ที่สะท้อนประเด็นการพูดคุยอย่างออกรสและลงตัว


การบริโภคของเราจะช่วยโลกได้ หาก ‘การผลิต’ และ ‘การกิน’ ไม่ส่งผลกระทบต่อโลก และเปลี่ยนแปลงให้ ‘ปลอดภัยอย่างยั่งยืน’ ได้มากยิ่งขึ้น

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือดู Live ย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/a13U-Ua0c2/
และ https://fb.watch/a142SSOUBP/

UrbanCreature #ReinventtheWayWeLive #OxfaminThailand #TheLastMeal #OurLastChancetoEatRight #อาหาร #อุตสาหกรรมอาหาร #การกิน #ความยั่งยืน #สิ่งแวดล้อม #ClimateChange #ภาวะโลกรวน