JobsDB สรุปภาพรวมแนวโน้มตลาดงานยุคหลังโควิด-19 เจาะผลสำรวจ 10 ธุรกิจ-สายงานดาวรุ่ง พร้อมแนะแรงงานปรับตัวเสริมทักษะดิจิทัล รองรับคลื่นความต้องการตลาดงาน

จ๊อบส์ดีบี เปิดผลสำรวจสรุปภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานปี 2565 (SURVEY TO SURVIVE : เจาะ INSIGHT แนวโน้มตลาดงาน ทักษะอะไรที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี) โดยอ้างอิงจากจำนวนประกาศงานและข้อมูลการสมัครงาน พบว่าเศรษฐกิจภาพรวมยังคงชะลอตัว ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% ส่วนในด้านตำแหน่งงานว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% ผันแปรไปตามจำนวนที่มากขึ้นของประชากรที่ได้รับวัคซีน โดยเหล่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจที่มีจำนวนตำแหน่งที่เปิดรับสมัครงานสูงสุดได้แก่ 1) ธุรกิจไอที คิดเป็น 11.3% 2) ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก คิดเป็น 10.8% 3) ธุรกิจธนาคารและการเงิน คิดเป็น 8.4% ทางด้านสายงานที่มีจำนวนใบสมัครสูงสุด ได้แก่ 1) สายงานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 14.3% 2) สายงานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 11.7% 3) สายงานธุรการและทรัพยากรบุคคล คิดเป็น 10.9%

ทั้งนี้ หากพูดถึงธุรกิจที่มีการฟื้นตัวกลับมาอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี, ธุรกิจไอที, ธุรกิจการผลิต และธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม แม้ว่าสถานการณ์ตลาดงานจะค่อยๆ ปรับตัวอย่างช้าๆ ไปตามสภาพเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน จ๊อบส์ดีบี ยังคงยึดมั่นในปณิธานที่ตั้งใจเป็นแพลตฟอร์มหางานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้หางาน ล่าสุด เปิดตัวแคมเปญ Up level รวบรวมแหล่งความรู้ ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูงสุด นำเสนอในรูปแบบออนไลน์คอนเทนต์ เพื่อให้ผู้หางานได้บ่มเพาะ ฝึกฝน และเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม พร้อมพัฒนาศักยภาพขึ้นเป็นแรงงานคุณภาพในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า“จากฐานข้อมูลและผลสำรวจภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานของจ๊อบส์ดีบี พบว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วมี 4 ธุรกิจ คือ ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี ซึ่งได้รับผลพวงเชิงบวกมาจากการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นสูงมากจากการจัดส่งอาหารในช่วงโรคระบาด, ธุรกิจไอที ที่เติบโตจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลที่ผลักดันการนำเอาอุปกรณ์ไอทีมาประยุกต์ใช้, ธุรกิจการผลิต จากดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการควบคุมโรคระบาดเริ่มผ่อนปรนลง และธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม ที่ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจที่กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดเหล่านี้ ส่งผลให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเกี่ยวข้องดีดตัวกลับมา โดยธุรกิจไอที, ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก และธุรกิจการเงินและการธนาคาร ถือเป็น 3 ธุรกิจที่มีการเปิดรับสมัครงานสูงสุดคิดเป็น 11.3%, 10.8%, 8.4% ตามลำดับ

ในส่วนของการฟื้นตัวของแต่ละสายงาน พบว่า สายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่

  1. สายงานไอที คิดเป็น 19.1%
  2. สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 19.0%
  3. สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 13.9%

โดยกลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่

  1. สายงานอีคอมเมิร์ซ คิดเป็น 71.7%
  2. สายงานขนส่ง คิดเป็น 43.8%
  3. สายงานการเงินและการธนาคาร คิดเป็น 26.2%

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 มีบทบาทส่งเสริมและผลักดันการดำเนินธุรกิจ การซื้อขาย และการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ช่วยกระตุ้นให้สายงานเหล่านี้พลิกกลับขึ้นมาเป็นสายงานสำคัญและเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ จ๊อบส์ดีบี ได้ร่วมมือกับ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) จัดทำแบบสำรวจระดับโลก “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล” (Decoding Digital Talent Survey) จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปของแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลทั่วโลก ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลมีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนงานภายใต้สายงานเดิม โดยมีปัจจัยด้านความต้องการแสวงหาโอกาสในการก้าวหน้าอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และความท้าทายใหม่ๆ เป็นแรงจูงใจหลัก นอกจากนี้ แรงงานยุคดิจิทัลจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการทำงานระยะไกลในช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยเกือบ 70% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานแบบระยะไกลให้กับองค์กรที่อยู่ต่างพื้นที่ โดย 5 ประเทศที่แรงงานในยุคนี้สนใจต้องการทำงานระยะไกลให้ด้วยมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์

ผลสำรวจยังได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็นด้วยว่า การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดงานและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ที่อาจเข้ามาแทนที่แรงงาน ส่งผลให้ผู้ที่มีทักษะดิจิทัลประมาณ 42% มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัติโนมัติ รวมถึงความเป็นไปได้ของอัลกอริธึม หุ่นยนต์ หรือซอฟต์แวร์ขั้นสูง ที่อาจเข้ามาแทนที่ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ของพวกเขา ทั้งนี้ ผู้มีทักษะดิจิทัลส่วนใหญ่จำเป็นต้องติดตามและเข้าใจเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าความสามารถของพวกเขาจะนำไปสู่การจ้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน

ล่าสุด จ๊อบส์ดีบี ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย เปิดตัวแคมเปญ UpLevel นำเสนอออนไลน์คอนเทนต์ครอบคลุมความรู้ทางดิจิทัลตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง ทักษะทางสังคม (Soft Skill) ที่จำเป็นสำหรับคนทำงานยุคใหม่ รวมถึงเทคนิคการเขียนเรซูเม่ และการสัมภาษณ์งานให้โดนใจ HR รวมกว่า 30 คอร์ส โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ ไมโครซอร์ฟ, เพจ The Hunters และ บริษัท บียอนด์ เทรนนิ่ง จำกัด ที่นำกูรูด้านการพัฒนาทักษะทางสังคม ทั้ง Data Driven Organization โดย อาจารย์หนู วรรธนันท์ พรหมมินทร์ Trainer และ Co-Founder เพจ “สรุป TED Talks”, Self-Leadership โดย อาจารย์เปิ้ล พิชามญชุ์  ผดุงศักดิ์วิริยะ Trainer และเจ้าของเพจ “วันทำงานของม่อน” เป็นต้น มาให้ความรู้ เสริมทักษะ เพื่อติดอาวุธและอัปเลเวลคนทำงานยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ” คุณดวงพร กล่าวทิ้งท้าย

และเมื่อเร็วๆ นี้ จ๊อบส์ดีบี ได้จัดงานแถลงข่าวประจำปี ภายใต้หัวข้อ “SURVEY TO SURVIVE : เจาะ INSIGHT แนวโน้มตลาดงาน ทักษะอะไรที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี” ณ ห้อง เดอะ โซไซตี้ ชั้น 22 อาคารเกษร ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานพิเศษต่างๆ ของจ๊อบส์ดีบี สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่ https://jobsdb.me/signature-report

ติดตามข่าวสาร กิจกรรมดีๆ และคำแนะนำในการสมัครงานจาก จ๊อบส์ดีบี เพิ่มเติมได้ทาง https://jobsdb.me/PR