จดหมายเปิดผนึก “ถอดบทเรียนการจัดงานเทศกาลคอนเสิร์ต “BMMF NO.12” จากนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่

จากทัศนะส่วนตัวในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคนรักเขาใหญ่ที่อาศัยทำมาหากินอยู่ในหุบเขาแห่งความสุขมานานกว่าสองทศวรรษ คุ้นเคยกับการจัดงานในพื้นที่ทุกรูปแบบ ขอถอดบทเรียนจากการจัดงานคอนเสิร์ต “มัน ใหญ่ มาก” ครั้งที่ 12 ในช่วงวันที่ 10-11 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อเตือนใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชนดังต่อไปนี้

  1. ด้านการจราจร ยานพาหนะทุกประเภทที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศตั้งแต่ในช่วงวันที่ 9 ธ.ค. (ที่ให้รับริสแบนด์และผู้ประกอบการร้านค้าเข้าในพื้นที่) และช่วงวันที่ 10 ธ.ค. นั้นมีจำนวนมากเพราะต้องทำการขนส่งผู้เข้าชมคอนเสิร์ตที่ว่ากันว่าบัตรได้จำหน่ายไปนับแสนใบ ไม่นับทีมทำงาน ผู้ประกอบร้านค้า ทีมรักษาความปลอดภัย รถทุกชนิด รวมๆ แล้วอีกนับหมื่นที่หมุนเวียนเข้าออกงาน ในวันที่ 10 ธ.ค. ช่วงพีคสุดใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ – เขาใหญ่ ไม่น้อยกว่า 6-7 ชั่วโมง (ถนนมิตรภาพ – ถนนธนะรัชต์) และจุดคอขวดบริเวณทางเข้างานถนนคับแคบ แม้ว่าผู้จัดจะได้ขยายจุดจอดรถจำนวนมาก แต่ก็ทำให้ผู้ที่เดินทางมาในงานหรือผู้ปกครองที่มาส่งบุตรหลาน รถรับจ้างเข้าถึงบริเวณจัดงานได้ยากมาก ต้องตัดใจใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์หรือเดิน
    บางคน บางคณะที่มีประสบการณ์ เลือกใช้การเดินทางจากที่พักของตนเองมีรถสองแถวที่นัดหมายไว้ก่อนหน้านั้นบริการ ซึ่งเป็นวิธีการลดโหลดในการเดินทางเข้างานได้ดี แต่เนื่องจากปริมาณรถมีจำนวนมาก กว่าจะเดินทางส่งลูกค้าได้ก็ใช้เวลานานเช่นกัน และมีรถจอดสองข้างทางจำนวนมาก

ประเด็นนี้ เนื่องจากผู้จัดและคนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาการจราจรที่ติดขัดเป็นอย่างดี พวกเราจึงพยายามหาทางแก้ไข (เนื่องจากผู้จัดไม่ได้มีการจัดรถเวียนรับ-ส่งดังเช่นปีแรกๆ ของการจัดงาน) ด้วยการจัดจุดจอดรถให้บริการ ทั้งมีค่าใช้จ่าย ถ้าอยู่ใกล้งานมีจุดกางเต็นท์ให้ด้วย คิดค่าจอดหลักร้อย จอดครบสองวันตัวเลขขึ้นหลักพัน ถ้าอยู่ในระยะเดินได้ไม่ต้องเสียค่ามอเตอร์ไซค์ แต่ถ้าต้องจ่ายค่ามอเตอร์ไซค์ก็นับว่าเป็นปัญหาเอาการ บางรายทะเลาะกันก็มี

ส่วนที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นที่จัดโดยสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ณ Walking Street เขาใหญ่พาโนรามาฟาร์ม และหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก และจัดหารถวินกระบะและรถวินมอเตอร์ไซค์ให้ช่วยมารับคนเข้างานต่อ
ปีนี้เป็นปีแรกคนใช้บริการยังไม่มากนัก หากปีหน้าจัดงานอีกจะวางแผนจัดจุดรอรับให้ผู้ปกครอง โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้มาส่ง / ผู้มางานและทำให้การจราจรในชุมชนลื่นไหลไปได้บ้าง

อยากให้ตัวเลขคิดเล่นๆ ว่า ถ้ามีคนมางาน 100,000 กว่าคน (ฐานคิดจากจำนวนบัตร) ขอให้ x 2 หรือ x3 ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีคนอยู่ในพื้นที่เขาใหญ่ ประมาณ 200,000-300,000คน เท่ากับประชากรปกติและประชากรแฝงอ.ปากช่อง

การจราจรเป็นหัวข้อใหญ่และหัวใจการเข้าถึงงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ที่ผู้จัดงาน ผู้อนุมัติ หน่วยงานราชการ อาสาสมัครในพื้นที่ ควรมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผนและตัดสินใจร่วมกัน เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบมาก ไม่นับปริมาณการเผาผลาญเชื้อเพลิงมากมาย (แน่นอนว่าถ้าบริษัทผู้สนับสนุนมีมุมมองต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ESG (Environment, Social & Governance) และ/หรือเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องยึดหลักความยั่งยืนแล้วคงต้องพิจารณาประเด็นนี้กันหน่อยว่างานที่ตนเองส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดงานนั้นได้วางมาตรการที่จะจัดงานโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนได้จริงหรือไม่
ทราบมาว่าช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้างาน ร้านค้า ร้านอาหาร ที่อยู่บนถนนธนะรัชต์ ช่วงกม. 4-7 ต้องปรับเปลี่ยนมาให้บริการเป็นที่จอดรถแทน

  1. ด้านที่พัก เนื่องจากมีปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งที่เข้าชมงานคอนเสิร์ตและไม่ได้เข้า ส่วนใหญ่เป็นครอบครัว ผู้ปกครอง ที่มาส่งบุตรหลาน ที่พักทั้ง อ.ปากช่อง ไล่ไปจนถึงมวกเหล็ก วังน้ำเขียวถูกจับจองเต็มหมดข้ามปี พอผู้จัดเพิ่มปริมาณการขายบัตรเข้าชมงาน แม้ว่าจะเตรียมโซนรถบ้าน และเต็นท์ไว้บริการก็ยังไม่เพียงพอหรือผู้บริโภคอาจตัดสินใจเลือกจากความคุ้มค่า การเดินทาง (ขายรวมเป็นแพคเกจ) จึงทำให้เราเห็นว่ามีการให้บริการเต็นท์พักแรมโดยรอบบริเวณที่จัดงานจำนวนมาก และเมื่อเจ้าของพื้นที่จุดกางเต็นท์ไม่ยอมคืนเงินมัดจำค่าเต็นท์ทำให้เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ชื่อเสียงของผู้ประกอบการในเขาใหญ่โดยรวมก็เสียหายไปด้วยทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปลาเน่าไม่กี่ตัว เห็นแก่ได้ ไม่นับการขูดรีดหรือเอาเปรียบผู้เข้ามาพัก เกิดการร้องเรียนตามมาหลังจบงานหลายกรณี
  2. การจัดการขยะ โดยส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มากพอๆ กับชื่องาน เพราะภาพที่เห็นและจากการที่ตนเองได้มีโอกาสเดินดูในงานบางส่วนเห็นได้เลยว่ามีความพยายามอย่างสูงที่จะจัดการให้ได้ (ในพื้นที่) เห็นใจคนที่ทำหน้าที่เก็บขยะอย่างมากที่ต้องตามเก็บขยะจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกทิ้งถูกที่ถูกทาง จำนวนคนเก็บขยะกับคนที่เข้างานไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่มีทางสัมพันธ์กัน ทางที่ดีควรจะต้องขอให้ศิลปินที่ขึ้นเวทีช่วยประชาสัมพันธ์และปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องนี้กันตลอดงาน
    เรื่องนี้ทำให้กลับมาคิดต่อว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร?
    ขอเสนอว่าให้ผู้จัดโดยเฉพาะผู้สนับสนุนที่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่ม ประสานกับเอกชนที่รับซื้อขยะพลาสติก กระป๋อง ฯลฯ นำเครื่องบีบอัดขยะ ขวดพลาสติกแล้วจัดโซนแล้วนำออกจากงาน หรือจัดให้ผู้เข้าชมนำขวดน้ำ /กระป๋องมาแลกเป็นของที่ระลึก หรือน้ำดื่ม หรือสะสมแต้ม ฯลฯ จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่จ้างมาเก็บขยะสามารถช่วยดูแลการเก็บขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น + ส่วนบริเวณที่เป็นร้านอาหารควรมีจุดแยกขยะเปียกที่สามารถฝังกลบได้ไว้ด้วย มาตรการการจัดการขยะไม่ใช่เรื่องเทรนด์รักษ์โลกเฉยๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้จริงจัง งานที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นใหม่เช่นนี้ถ้าช่วยกันนำเสนอย่อมดีต่อใจและโลกของเราแน่นอน
    ส่วนขยะด้านนอกงาน ภาพปรากฏ ช่วงวันที่ 12 ธ.ค. ได้เห็นเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครเดินเรียงเก็บขยะบนถนนธนะรัชต์ตั้งแต่หน้าบริเวณซอยทางเข้างาน แต่ก็ไม่น่าจะเพียงพอต่อปริมาณขยะจำนวนมากที่ล้นอยู่ริมถนนโดยเฉพาะจุดขายของและจุดกางเต็นท์ ทราบมาว่าเทศบาลในพื้นที่มีหน้าที่ดูแลแต่ก็นับว่าน่าเห็นใจเพราะลำพังขยะในสภาวะปกติก็แทบจะเก็บไม่ทันอยู่แล้ว ช่วงบ่ายๆ ของวันที่ 12 ธ.ค. บางจุดยังเห็นขยะล้นอยู่ ในส่วนนี้หากมีการจัดงานครั้งต่อๆ ไปต้องวางแผนการจัดการให้ดีขึ้น
  3. การขูดรีดของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เท่าที่สอบถามมาปีนี้มีการจัดการด้วยการเตรียมวินไว้บริการ ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าใครเป็นคนบริหารวินหรือคิดจัดการในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคงเกิดจากจิตบริการสังคม เสื้อวินมีค่าใช้จ่าย 1,500 บาท /คน มีทั้งที่เป็นคนในท้องที่และจากที่ต่างๆ เขาเข้ามาให้บริการก็ต้องการความคุ้มทุน แต่เมื่อนักท่องเที่ยวที่จะต้องการจะเข้างานมีปริมาณมาก (เกิดจากการจราจรติดขัด) ทางเลือกในการใช้วินเพื่อให้ได้เข้างานจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและยอมจ่าย ได้รับฟังมาว่ามีหลายกรณีราคาไม่เป็นไปตามที่ตกลงตั้งแต่แรก แต่ผู้ใช้บริการไม่อยากจะมีเรื่อง แต่แน่นอนว่าเสียความรู้สึก หลายรายก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน
  4. เรื่องอื่นๆ เช่น การจัดจุดห้องน้ำบริการ เมื่อห้องน้ำมีปริมาณไม่เพียงพอ ผู้ชายก็ยืนฉี่ใกล้กำแพง ส่วนผู้หญิงก็ช่วยกันเอาผ้ามาปิดเพื่อให้เพื่อนได้ปลดทุกข์ เพราะห้องน้ำตั้งอยู่ไกลและต่อคิวยาวมาก บางทีน้ำมีไม่พอ ฯลฯ ปีนี้เท่าที่สอบถามร้านค้า ร้านอาหารมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก มีหลายรายขายไม่ได้ตามเป้า ด้วยเหตุผลหลายประการ ในส่วนนี้ขอละไว้ไม่ขอกล่าว เพราะผู้จัดคงมีเหตุผลของเขาในการคิดค่าบูธและด้านการจัดการ ทางผู้จัดให้บูธสมาคมฯ มาสองบูธ ในโซนรถบ้านและเต็นท์ ทราบมาว่าห้ามคนจากนอกโซนเข้า (คงด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัย) ทำให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องเดินไกลจากจุดพัก ผู้ประกอบการขายของไม่ค่อยได้นัก น่าเห็นใจพอควร การมีส่วนร่วมของร้านค้าในชุมชนยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก
  5. การก่อให้เกิดรายได้ในพื้นที่และการจ้างงาน ในประเด็นนี้เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นแน่นอน เงินสะพัดหมุนเวียน ถ้าตีคร่าวๆ (ไม่นับค่าบัตรเข้าชมงาน) ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม น่าจะอยู่ระหว่าง 3,000- 5,000 บาท/คน/วัน ทั้งในงานและนอกงาน เพราะผู้เข้าชมงานมาจากทั่วประเทศจริงๆ ถ้าเราเป็นผู้จัดงานคงดีใจไม่น้อยว่านี่คือเทศกาลที่มี fan base หรือ FC ที่เหนียวแน่น

โดยรวมหวังว่าปีหน้าผู้จัดควรประเมินกำลังของพื้นที่และชุมชนว่าพื้นที่จัดงานและโดยรอบสามารถรองรับคนได้จำนวนเท่าใด ควรจัดให้เหมาะสม และมีกระบวนการจัดการที่ดีขึ้น เสนอแผนที่พร้อมนำไปปฏิบัติได้จริงให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือผู้อนุมัติพิจารณาร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ มีแผนรับมือกับเหตุจลาจลและจราจร อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น แผนทำงานร่วมกับหน่วยกู้ภัย

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรนำข้อผิดพลาดบกพร่องของปีนี้มาประมวล ถอดบทเรียน และขอให้พิจารณาให้ลึกซึ้งถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน การจัดการก่อน – ขณะ – หลัง อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการจัดเทศกาลดนตรีเช่นนี้เป็นเทศกาลแห่งความสุข คนมาย่อมคาดหวังความสุขจากการแสดงของศิลปิน วงที่ตนเองชื่นชอบ อุตส่าห์เก็บเงินลงทุนเดินทางมาจากบ้าน อยากให้เขาประทับใจทั้งการจัดการภายในและการประสานงานภายนอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถประเมินมูลค่าออกมาได้ แต่หากนักท่องเที่ยวมาแล้วไม่ประทับใจรู้สึกว่าแหล่งท่องเที่ยวนี้ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ ย่อมต้องเกิดการบอกต่อ ไม่อยากกลับมาอีก เทศกาลดนตรีแห่งความสุขสองวัน ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบต่อ “การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชน” ในหุบเขาแห่งความสุขและพื้นที่เขาใหญ่ มรดกโลกของเราทุกคน

พันชนะ วัฒนเสถียร
นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่
FB:สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่