เคล็ดไม่ลับเบาหวาน กินอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยมีมากถึง ร้อยละ 8.3 ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 20-79 ปี และเป็นโรคที่ไม่สามารถหายขาดได้รวมถึงเสี่ยงต่อการมีโรคแทรกซ้อนมากมายด้วย เพราะฉะนั้นการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้เป็นปกติจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อสุขภาพของผู้ป่วยเองและช่วยให้แพทย์ลดหรืองดการใช้ยาเพื่อคุมระดับน้ำตาลได้ด้วย

นักกำหนดอาหาร ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ. กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าผู้ป่วยคุมอาหารหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม สามารถคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ โรคจะอยู่ในระยะสงบและจะไม่แสดงอาการเหมือนกับว่าไม่ได้เป็นโรคแล้ว หรือเรียกอีกอย่างว่า Remission และถ้าสามารถดูแลระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้เรื่อยๆ  จะช่วยให้แพทย์ลดหรืองดการใช้ยาเพื่อคุมระดับน้ำตาลได้ โดยวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายวิธี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่งดอาหารเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เลี่ยงการกินมื้อใดมื้อหนึ่งที่มากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลสูงได้ ควรดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (18.5 – 22.9 kg/m2) จะช่วยเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะเซลล์ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้น้ำตาลที่ลอยในกระแสเลือดถูกอินซูลินพาเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปเผาผลาญให้เกิดพลังงาน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนควรลดน้ำหนักลง 5% ของน้ำหนักตัว

ทั้งนี้การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารยังสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวได้ เช่น การจำกัดปริมาณอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง ขนมปัง เส้นต่างๆ วุ้นเส้น ข้าวโพด เผือก มัน ควรได้รับปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ ควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่อุดมไปด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช และผักต่างๆ แต่ผักบางชนิดที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก เช่น ฟักทอง ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก ต้องไม่ทานผลไม้มากจนเกินไปในแต่ละวัน เพราะผลไม้เป็นอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ที่อยู่ในผลไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะรสเปรี้ยวหรือรสหวาน แนะนำให้รับประทาน 3 – 4 จานรองถ้วยกาแฟ หรือผลขนาดเท่ากำปั้นต่อวัน เลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ทุกชนิด เนื่องจากในน้ำผลไม้มีแต่น้ำตาล ไม่มีใยอาหาร ซึ่งใยอาหารสามารถขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลบางส่วนได้ ผู้ป่วยบางคนอาจเคยได้รับข้อมูลว่า ควรเลือกกินผลไม้ที่ไม่หวาน ดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index) แต่ที่จริงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ การควบคุมปริมาณให้เหมาะสม เพราะหากกินผลไม้รสจืดในปริมาณมากก็สามารถทำให้น้ำตาลเพิ่มสูงได้เช่นกัน เลี่ยงการรับประทานขนมหวานต่างๆ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มาก เนื่องจากน้ำตาลทรายที่ใส่ในขนมหวานสามารถถูกดูดซึมได้เร็ว ดังนั้นน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม ชา กาแฟ นมเปรี้ยวและนมรสต่างๆ น้ำสมุนไพร เป็นต้น โดยเปลี่ยนมาเลือกแบบที่ใช้น้ำตาลเทียมหรือหญ้าหวานแทน สามารถเลือกได้โดยอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อ และจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 1 Drink ในผู้หญิง และ 2 Drink ในผู้ชาย เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน และไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง เพราะจะทำให้น้ำตาลต่ำได้

การปรับพฤติกรรมสุขภาพรวมทั้งการรับประทานอาหาร ไม่มีสูตรหรือวิธีใดที่เหมาะสมกับทุกคน (No One – Size – Fits – All) ดังนั้นการพบกับนักกำหนดอาหาร เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ และภาวะโภชนาการ เพื่อหาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมในแต่ละคนจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยสามารถตั้งเป้าหมายการดูแลสุขภาพเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้นานที่สุดได้อีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพ โทร.02-755-1129-30  หรือ แอดไลน์