เพชรบูรณ์…เสน่ห์เมืองรองที่น่าค้นหา Unseen Phetchabun

เพชรบูรณ์มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติเขาค้อ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ภูทับเบิก และยังมีสถานที่อันซีนที่ซ่อนตัวรอให้คุณมาค้นหาอีกมากมาย ทริปนี้เราจะพาคุณไปค้นหาเสน่ห์ของเพชรบูรณ์ตอนเหนือ คือ อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่อเก่า และอำเภอน้ำหนาว  

พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ ศักดิ์ศรีและความภูมิใจของชาวหล่มสัก

หล่มสักเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งเกือบจะได้เป็นเมืองหลวงของประเทศในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชน มีวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีการดำรงชีวิต เอกลักษณ์และภาษาถิ่นของตนเอง ซึ่งล้วนเป็นความภาคภูมิใจของชาวหล่มสัก

ถ้าอยากรู้จักเมืองหล่มสักและวิถีชีวิตของคนไทหล่มแบบเจาะลึก ไม่ต้องไปไหนไกลค่ะ มาที่ “พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์” คุณจะเห็นภาพของหล่มสักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันครบจบในที่เดียว ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ ผ่านห้องจัดแสดงต่างๆ 10 ห้อง ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชนชาวหล่มสักอย่างแจ่มชัด

1. ห้องประชาสัมพันธ์ เป็นห้องรับแขกที่ทำหน้าที่ต้อนรับและให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวเบื้องต้น 2. ห้องภาพยนตร์ นำเสนอวิถีชีวิตของคนไทหล่มผ่านภาพยนตร์สั้นแบบ 360 องศา คือมีจอทั้งหน้า-หลัง ให้ความรู้สึกเหมือนเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย 3. ห้องเมืองหล่มสักในอดีต จำลองภาพวิถีชีวิตของหล่มสักในอดีต เช่น ร้านตัดผมนายปรีชา ขาแหย่ง, ร้านกาแฟมุ้ยหลี, โรงหนังเบญจบันเทิง, โรงสูบฝิ่น, บ่อน้ำสร้าง ฯลฯ 4. ห้องเสน่ห์เมืองหล่มสัก จำลองภาพบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหล่ม คือ “น้าใหญ่” สามล้อถีบคนสุดท้ายของหล่มสัก และกลุ่มตีมีดโบราณบ้านใหม่ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์  5. ห้องหล่มสักเมื่อวันวาน เป็นห้องที่รวบรวมพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จฯ มาหล่มสัก รวมถึงภาพความทรงจำต่างๆ ของหล่มสัก แบ่งเป็น 2 ฟาก คือ ‘หล่มสักในวันวาน’ และ ‘วันนี้ที่หล่มสัก’ ตรงกลางมีหุ่นขี้ผึ้งแสดงการแต่งกายของสาวไทหล่ม

6. ห้องจังหวัดหล่มศักดิ์ จัดแสดงเรื่องของเจ้าเมืองหล่มสัก คือ พระสุริยวงษา (เทศ สุวรรณภา) เป็นหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริง พร้อมทั้งจำลองศาลา 8 เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่ทำการศาลจังหวัดในสมัยก่อน 7. ห้องวัฒนธรรมล้านช้าง ภายในห้องนี้เราจะได้เห็นวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นของคนไทหล่ม อาทิ การกวนข้าวทิพย์ การแผ่ปราสาทผึ้ง การล่องเรือไฟน้อย และศิลปกรรมบนผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” ที่ใช้นิ้วมือวาดแทนพู่กัน รวมถึงโมเดลบ้านของคนไทหล่ม ซึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้น ยกใต้ถุนสูง  8. ห้องไทหล่ม จำลองหุ่นขี้ผึ้งของบรรพบุรุษของคนไทหล่มที่อพยพมาจากลาว ผู้ชายนิยมสักลายตั้งแต่หัวเข่าถึงขาหนีบ เว้นตรงพุงไว้ จึงเรียกว่า “ลาวพุงขาว” และสาวนุ่งซิ่นหัวแดงตีนก่าน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของสาวไทยหล่ม 9. ห้องของกินบ้านเฮา แนะนำอาหารพื้นบ้านของคนไทหล่ม เช่น เมี่ยงต้นหรือเมี่ยงปลาร้า ซุปใบมะม่วง น้ำพริกขี้ปู ลาบเป็ด ข้าวเหนียวหัวหงอก และอาหารชวนชิมที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด เช่น ส้มตำบ้านติ้ว ขนมเปี๊ยะไทหล่ม ไส้กรอกป้าล้าน ขนมเทียนแก้ว ก๋วยเตี๋ยวเจ๊กจุ้ย ข้าวเหนียวไต่ราว ฯลฯ   10. ห้องเฮ็ดเวียกเฮ็ดงาน จัดแสดงเรื่องการทำมาหากินของคนไทหล่ม เช่น ขุดทองน้ำก้อ คนเก็บหมาก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ไม่เหมือนใคร รวมถึงตำนานมะขามหวานเมืองหล่มที่เลืองชื่อ

พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ เปิดให้เข้าชมฟรี วันพุธ-วันศุกร์ วันละ 4 รอบ ตั้งแต่ 9.00-16.00 น. และเสาร์ไม่กำหนดรอบ 17.00-21.00 น. โดยแต่ละรอบใช้เวลา 1 ชั่วโมง ถ้ามาเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าเยี่ยมชมได้ โทร. 056 701 333

ถนนคนเดินไทหล่ม ตลาดที่รวมอัตลักษณ์ของชาวหล่มสักไว้

เดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ไม่กี่ก้าว ก็จะพบกับสีสันละลานตาของตลาดถนนคนเดินไทหล่ม ซึ่งจัดขึ้นทุกเย็นวันเสาร์ เป็นถนนคนเดินอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด มีสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งสินค้าพื้นเมือง สินค้าทั่วไป อาทิ เสื้อผ้า เครื่องประดับ อาหารและขนมพื้นเมือง ผักผลไม้ท้องถิ่น งานฝีมือ ของฝาก ของที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การตีมีดโบราณของกลุ่มตีมีดบ้านใหม่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ การทอผ้ามุก ศิลปะท้องถิ่นของคนไทหล่ม การแสดงดนตรีพื้นบ้าน ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้ร่วมรำวงย้อนยุคอย่างสนุกสนาน ถนนคนเดินไทหล่มเป็นตลาดที่รวบรวมอัตลักษณ์ที่ขึ้นชื่อของชาวหล่มสักเอาไว้ในที่เดียว

ถนนคนเดินไทหล่ม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลหล่มสัก บริเวณหอนาฬิกา ใจกลางเมืองหล่มสัก บนถนนรณกิจเชื่อมต่อถนนพิทักษ์และถนนสุริยะวงษา ซึ่งเป็นถนนสายเก่าแก่ของหล่มสัก สองฟากฝั่งยังมีบ้านเรือนไม้โบราณให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีของชาวหล่มสักอีกด้วย เปิดทุกวันเสาร์ เวลาแดดร่มลมตกตั้งแต่ 17.00-22.00 น.

กลุ่มทอผ้าศรีสองคร รักษ์ผ้าทอ สานต่อบรรพชน

“หญิงนุ่งซิ่นหัวแดงตีนก่าน ผมเกล้ามวย ถือผ้าเบี่ยงแพร” เป็นเอกลักษณ์การแต่งกายของสาวไทหล่มมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเกือบจะเลือนหายไปจากเพชรบูรณ์ แต่ปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์นี้ขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มทอผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่านขึ้นในหลายชุมชน ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นการนุ่งซิ่นหัวแดงตีนก่านได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

“ซิ่นหัวแดงตีนก่าน” เป็นผ้าซิ่นที่มีการต่อหัวสีแดงด้วยผ้ามัดย้อม และตีนซิ่นเป็นผ้าทอลายขวาง (ก่าน แปลว่า ขวาง) ตัวซิ่นเป็นผ้าทอลวดลายที่เกิดจากการมัดหมี่หรือหมี่คั่นน้อย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสาวไทหล่มที่สืบเชื้อสายมาจากลาว  วันนี้เรามีโอกาสได้แวะไปดูการทอผ้าของ “กลุ่มผู้สูงอายุทอผ้าพื้นเมืองชุมชนคุณธรรมวัดศรีสองคร” ต.บ้านติ้ว อ.หล่มศักดิ์ ซึ่งรวบรวมผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมาร่วมกันทอผ้าที่วัดศรีสองคร อายุตั้งแต่ 60-80 ปี ซึ่งทุกคนยังแข็งแรงและตั้งใจทำงานอย่างมีความสุข  คุณยายบอกว่า “ผ้าทอมือไส้ปลาไหล” เป็นลวดลายเฉพาะของกลุ่ม ถ้ามีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมและให้กำลังใจคุณยายได้ที่วัดศรีสองคร และอุดหนุนผ้าทอมือ ผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่าน และผลิตภัณฑ์จากผ้าทอฝีมือคนชุมชนได้ที่ร้าน Siri Design ติดต่อพี่อุ้ย สิริวรรณ ใจเย็น โทร. 092 346 4337

อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ Unseen เพชรบูรณ์

หลายคนอาจไม่รู้ว่าจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นหนึ่งในอุทยานธรณีของประเทศไทย (GEOPARK)  จากข้อมูลของ “คุณวิศัลย์ โฆษิตานนท์” ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ลักษณะภูมิประเทศของเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นแอ่งวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ เกิดจากเคลื่อนตัวเข้าหากันของเปลือกโลกหรืออนุทวีป 2 แผ่น คือ อินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) ทางตะวันออก และชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางตะวันตก เมื่อ 280-240 ล้านปี เกิดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ทางธรณีวิทยาที่หลากหลายตามมามากมาย จึงนับว่าเป็นโชคดีของคนเพชรบูรณ์เหลือเกินที่ธรรมชาติได้มอบของขวัญอันล้ำค่าและรังสรรค์ให้เกิดมีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยา กระจายตัวอยู่ทั่วไปในจังหวัดเพชรบูรณ์

โดยมีการประกาศจัดตั้ง “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์” Phetchabun Geopark ขึ้น เพื่อผลักดันให้คนในท้องถิ่นได้เกิดการร่วมกันศึกษาให้ตระหนักในคุณค่า และร่วมรักษาพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันล้ำค่าของจังหวัดเพชรบูรณ์ และจะคัดเลือกบางแหล่งที่สำคัญและมีศักยภาพ เพื่อเสนอให้เป็นอุทยานธรณีของประเทศและของโลกต่อไป ทริปนี้เราจะพาคุณไปสัมผัสความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในกลุ่มจีโอปาร์คของเพชรบูรณ์ อาทิ สะพานห้วยตอง, จุดชมวิวถ้ำผาหงส์, ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และแกรนด์แคนยอนน้ำหนาว

สะพานพ่อขุนผาเมือง (ห้วยตอง) สะพานเชื่อมแผ่นดิน

สะพานห้วยตองตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 374 บนทางหลวงหมายเลข 12 หล่มสัก-ชุมแพ เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างภูเขาที่อยู่ใกล้กับที่ราบ ที่เป็นแนวรอยต่อระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสาน จุดเด่นของสะพานห้วยตอง คือตอม้อที่สูงที่สุดในประเทศ 50 เมตร ตัวสะพานกว้าง 9.50 เมตร ยาว 180 เมตร และมีรัศมีโค้งยาว 200 เมตร มองลงไปจะเห็นทางน้ำและต้นไม้อยู่ลิบๆ สามารถจอดรถชมวิวได้ทั้งสองฝั่งของสะพาน จากจุดนี้เราจะมองเห็นภูมิประเทศที่หลงเหลือจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันของแผ่นเปลือกโลก ชาน-ไทย ทางตะวันตก และแผ่นเปลือกโลก อินโดไชน่า ทางตะวันออก เป็นภาพที่สวยงาม แปลกตา ยิ่งมองจากภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นตัวสะพานคดเคี้ยวไปตามแนวเขาที่ปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวขจีสองฟากฝั่ง เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดเช็คอิน

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ เป็นอุทยานลำดับที่ 5 ของประเทศ มีเนื้อที่ 603,750 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอในจังหวัดเพชรบูรณ์ คือ หล่มเก่า หล่มสัก และน้ำหนาว และอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีลักษณะเป็นเนินยอดป้านที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกบริเวณนี้ในอดีต มีความสูงอยู่ระหว่าง 650-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมี “ภูผาจิต” หรือ “ภูด่านอีป้อง” เป็นยอดเขาสูงสุด 1,271 เมตรจากระดับน้ำทะเล

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเป็นป่าต้นน้ำและเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย อาทิ แม่น้ำป่าสัก สายน้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวเพชรบูรณ์ ลำน้ำพรม ลำน้ำเชิญ ซึ่งไหลไปรวมกับแม่น้ำชี สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอีสานมาเนิ่นนาน อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเป็นรอยต่อของพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง คือ เขตรักษาพันธุสัตว์ป่าภูผาแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง อุทยานแห่งชาติตาดหมอก และอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน นับเป็นผืนป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า อาทิ ช้าง กระทิง เก้ง กวางป่า เสือโคร่ง เสือดาว หมีความ เลียงผา หมาใน ฯลฯ ที่นี่ยังเป็นสวรรค์ของนักดูนกกว่า 200 ชนิด เช่น นกขุนแผนหัวแดง นกพญาไฟเล็ก นกกระเต็นลาย นกกะรางหัวขวาน ฯลฯ รวมถึงแมลงและผีเสื้อกว่า 340 ชนิด

ป่าน้ำหนาวมี 4 ชนิด คือ ป่าดงดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด และต้นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ คือ “จำปีศรีเมืองไทย” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ ที่สำรวจพบเพียงไม่กี่ต้นในประเทศ นอกจากนี้ยังมีสวนสนดงแปก ป่าสนสองใบอายุกว่าร้อยปี แต่ละต้นสูง 35-40 เมตร ล่าสุดพบต้นสนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เส้นรอบวงลำต้น 4.85 เมตร สูง 50 เมตร อายุราว 300 ปี ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน และ “มหัศจรรย์ป่าเปลี่ยนสี” ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรอบปี ก่อนที่ฤดูแล้งจะมาเยือน ใบไม้ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลืองและสีแดงพร้อมกันทั่วป่า ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แล้วร่วงหล่นในเดือนธันวาคม จุดชมป่าเปลี่ยนสีที่เห็นชัดที่สุดคือบริเวณภูหลังกงเกวียน

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกมากมาย อาทิ น้ำตกเหวทราย น้ำตกทรายทอง ถ้ำใหญ่น้ำหนาว จุดชมพระอาทิตย์ตกถ้ำผาหงส์ และมีกิจกรรมให้ทำมากมาย อาทิ ดูนก ดูผีเสื้อ ดูดาว ส่องสัตว์ กางเต็นท์พักแรม เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เดินป่าพิชิตภูผาจิตที่มีลักษณะคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า เป็นต้น   

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีค่ายเยาวชนที่รองรับได้ถึง 60 คน บ้านพักหลายรูปแบบ และลานกางเต้นท์ มีอุปกรณ์เต๊นท์และอุปกรณ์เครื่องนอนบริการ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหาร ห้องน้ำ ไว้อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว สามารถติดต่อสอบถามและสำรองที่พักได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานฯ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์  โทรศัพท์ 081-962-6236  e-mail : Namnao_np@hotmail.com  ฝ่ายบริการบ้านพัก สำนักอุทยานแห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2562 0760, www.dnp.go.th

ถ้ำใหญ่น้ำหนาว “ภูน้ำริน” ชมความงามวิจิตรของหินงอก-หินย้อย

ถ้ำใหญ่น้ำหนาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอุทยานฯ ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า บ้านหินลาด มีลักษณะเป็นเขาหินปูนสูง 955 เมตรจากระดับน้ำทะเล การเข้าชมถ้ำต้องเดินขึ้นบันไดไปประมาณ 200 เมตร บรรยากาศสองข้างทางเป็นป่าเขียวขจี มีต้นไม้ใหญ่และลำธาร ก่อนถึงปากถ้ำมีโถงถ้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต ที่เดินทางมาจำพรรษาในช่วงปี 2502-2505  ภายในประดิษฐานของพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ หลังจากกราบสักการะแล้วก็เดินขึ้นบันไดต่อไปที่ปากถ้ำ

ทางเข้าถ้ำเป็นผาหินปูนวางตัวแนวตะวันออก-ตะวันตก มีความยาวเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ตัวถ้ำลึกเข้าไปในภูเขากว่าสิบกิโลเมตร จุดเด่นของถ้ำใหญ่น้ำหนาวคือความวิจิตรของหินงอกหินย้อย ซึ่งธรรมชาติใช้เวลารังสรรค์นับร้อยล้านปี ก่อเกิดเป็นรูปร่างต่างๆ ให้เราได้จินตนาการตามไปตลอดทาง เช่น หินต้นตาล หินบันไดสวรรค์ หินพระสังกัจจายน์  ที่ 40 เมตร, หินแม่ไก่ ที่ 160 เมตร, หินเจ้าแม่กวนอิม ที่ 180 เมตร หินกากเพชร ที่ 200 เมตร แท่นกรรมฐานหลวงปู่ หินนางคอย ที่ 220 เมตร เศียรนาคราช ที่ 240 เมตร หินรูปหัวเรือไททานิค ที่ 300 เมตร หลุมหัวใจพญานาค หินหนุ่มสาว ที่ 340 เมตร จนถึงจุดสิ้นสุดเส้นทางเที่ยวชมถ้ำที่ 380 เมตร

ภายในถ้ำจะมีลมเย็นๆ จากปล่องเหนือเพดานถ้ำ ลึกเข้าไปได้ยินเสียงน้ำไหลรินจากลำธาร ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ภูน้ำริน” เจ้าหน้าที่บอกว่าหินงอกหินย้อยเหล่านี้ เกิดจากการตกผลึกของแร่แคลไซต์หรือหินปูนผลึกงอกขึ้นมาจากพื้นถ้ำ ซึ่งใช้เวลานับร้อยนับล้านปี ถ้าเราเผลอไปสัมผัสหินเหล่านั้นมันจะไม่งอกอีก เพราะฉะนั้นเวลาเข้าไปชมถ้ำ ไม่ควรเอามือไปลูบคล้ำหินเหล่านี้ เพราะจะเป็นการตัดวงจรการก่อตัวของหินได้

บนภูเขาปรากฏมีซากฟอสซิลหอยชนิดต่างๆ ปะการัง และฟิวซูลินิด (Fusulinids) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลบนโลกในช่วงเวลาต่างๆ แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ฟอสซิลฟิวซูลินิดที่เขาถ้ำใหญ่น้ำหนาวแห่งนี้มีหลายชนิดหลายขนาด ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงวิวัฒนาการของเปลือกโลกในยุคเพอร์เมียน (280-240 ล้านปี) ได้อย่างครบถ้วน

ภายในถ้ำยังเป็นถิ่นที่อยู่ของค้างคาวนับแสนตัว มีค้างคาวที่ใกล้สูญพันธุ์ คือ ค้างคาวมงกุฎมาร์แชล และค้างคาวกินแมลงที่เป็นสัตว์หายาก คือ ค้างคาวหูหนูยักษ์ ซึ่งพบครั้งแรกที่จังหวัดน่านและน้ำหนาวเป็นครั้งที่ 2 ที่นี่ยังสำรวจพบตุ๊กแกชนิดใหม่ของโลก เป็นตุ๊กแกในสกุล Gonydactylus และตุ๊กแกหายาก คือ ตุ๊กแกป่าโดนนิ้วติด ซึ่งพบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย บอกให้รู้ว่าป่าน้ำหนาวมีความอุดมสมบูรณ์มากแค่ไหน  

จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกถ้ำผาหงส์

ถ้ำผาหงส์ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูนที่มีความแหลมคม สูง 922 เมตรจากระดับน้ำทะเล การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 12 ก่อนถึงอุทยานฯ 10 กม. ทางซ้ายมือจะมีทางแยกเข้าไป 500 เมตร จากลานจอดรถต้องเดินเท้าผ่านป่าไผ่เข้าไปอีก 300 เมตร ถึงปากถ้ำผาหงส์ซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ส่วนที่เป็นไฮไลต์อยู่บนหลังถ้ำ ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดไปอีก 259 ขั้น เมื่อขึ้นไปถึงจะพบประติมากรรมหินปูนที่สลับซับซ้อน ซึ่งธรรมชาติใช้เวลารังสรรค์หลายร้อยล้านปี เมื่อมองออกไปจะเห็นหมอกบางๆ ปกคลุมเหนือทิวเขาสลับซับซ้อน และผืนป่าสีเขียวของอุทยานฯ

บริเวณนี้ถูกบ่งชี้ว่าเป็นขอบของแผ่นอนุทวีปอินโดไชน่า จึงดูเสมือนว่าที่ราบที่อยู่ระหว่างแนวเทือกเขาทั้งสองฝั่งนั้น เป็นรอยของการเคลื่อนตัวเข้าหากันระหว่างแผ่นอนุทวีปชาน-ไทย และแผ่นอนุทวีปอินโดไชน่า เกิดเป็นทัศนียภาพที่งดงาม ยิ่งมองจากภาพถ่ายทางอากาศ เป็นภาพที่สวยงามเหนือคำบรรยายจริงๆ และเป็นจุดชมวิวอาทิตย์อัสดงที่โรแมนติกที่สุดของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

แคนยอนน้ำหนาว มหัศจรรย์ความงามของเปลือกโลก

พูดถึงแกรนด์แคนยอนทุกคนจะต้องนึกถึงแกรนด์แคนยอนในรัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกา หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่นักท่องเที่ยวจะต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งก่อนตาย แต่เราไม่ต้องไปไกลขนาดนั้น เพราะที่น้ำหนาวก็มีแกรนด์แคนยอนที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน เพียงแต่ย่อส่วนลงมาเท่านั้น ซึ่งทางจังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดให้แคนยอนน้ำหนาวเป็นหนึ่งในอุทยานธรณี Geoparks สถานที่ท่องเที่ยวทาง unseen ที่คุณไม่ควรพลาด

แกรนด์แคนยอนน้ำหนาว เป็นหน้าผาหินทรายสีน้ำตาลแดง ที่มีการวางตัวชั้นหินอยู่ในแนวค่อนข้างราบ มีขนาดใหญ่มาก กว้างและสูงชัน รายล้อมด้วยผืนป่า สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ผืนโลกมีการยกตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากแรงดันอันมหาศาลจากภายใต้พื้นโลก จากนั้นก็เกิดรอยแตกที่วางตัวขนานกับแนวรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ เกิดมีลำธารไหลผ่านพัดเอาทรายและตะกอนไปตามน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะลึกลงไปในเปลือกโลก มีการสึกกร่อนทีละเล็กทีละน้อย จนเกิดการพังทลายของแผ่นหินลงไปด้านล่าง ผนวกกับแรงลมและแสงแดดที่เกิดติดต่อกันมานานหลายล้านปี จนกลายเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เกิดเป็นหน้าผาสูงชันจากพื้นราบที่อยู่ด้านล่างประมาณ 500 เมตร มีลักษณะโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม บริเวณหน้าผามีน้ำตกไหลเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในฤดูฝนจะมีน้ำไหลตกจากหน้าผาหลายแห่ง

แกรนด์แคนยอนน้ำหนาวตั้งอยู่ในชุมชนบ้านโคกมน โดยอยู่ในความดูแลของวัดโคกมน การเดินทางสะดวกมาก รถยนต์สามารถเข้าถึงลานจอดรถของวัดได้เลย จากนั้นเดินเท้าไปเล็กน้อย ผ่านน้ำตกนาคราชไปก็จะได้พบกับแกรนด์แคนยอน สิ่งมหัศจรรย์ของเพชรบูรณ์แล้ว ด้วยความที่เป็นหน้าผาค่อนข้างลึก เขาก็เลยทำรั้วกั้นไว้และห้ามนักท่องเที่ยวเดินออกไปถ่ายภาพนอกราว หรือไปยืนชิดขอบหุบเหวมากเกินไป เพราะถ้ามองจากอีกฝั่งหนึ่งจะรู้เลยว่าจุดที่เรายืนมันน่าหวาดเสียวขนาดไหน

จากจุดที่เรายืนอยู่เป็นจุดชมวิวแกรนด์แคนยอนได้กว้างไกล 360 องศา แต่จากถ่ายถ่ายทางอากาศ ทำให้เราได้เห็นภาพแกรนด์แคนยอนน้ำหนาวในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นความงดงามของธรรมชาติที่น่าตื่นตะลึงเหลือเชื่อ มองเห็นลักษณะการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็งดงามเหมือนถูกตรึงไว้ด้วยพลังมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ไม่อยากเชื่อเลยว่าที่นี่คือประเทศไทย

ชมสามภู นอนดูดาว รับลมหนาว @ บ้านห้วยหญ้าเครือ

บ้านห้วยหญ้าเครือ เป็นชุมชนเล็กๆ ในอำเภอน้ำหนาว มีพื้นที่ประมาณ 3,750 ไร่ ตั้งอยู่บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750-800 เมตร ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความหนาวเย็นที่สุด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีปรากฏการณ์แม่คะนิ้งให้ได้ชมกันด้วย บ้านห้วยหญ้าเครือมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ธรณีวิทยา อาทิ น้ำตกถ้ำค้างคาว ลานหินโคกลาด เป็นต้น

ด้วยศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าตื่นใจ ชาวบ้านจึงร่วมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านห้วยหญ้าเครือขึ้น โดยมีคุณสาธิต คำเจียก เป็นประธานฯ เมื่อปี พ.ศ. 2558 เปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียวได้เข้ามาสัมผัสกับเสน่ห์ของชุมชนที่ยังคงความบริสุทธิ์อยู่ และเป็นหมู่บ้าน Unseen แห่งน้ำหนาว

เส้นทางท่องเที่ยวที่ทางชุมชนจัดไว้ให้ คือ จุดชมวิวภูฮี ลานหินสามสี น้ำตกถ้ำค้างคาว และรอยเท้าทรพี ซึ่งความสนุกอยู่ตรงที่เราจะต้องเดินทางด้วยรถอีแต๊ก! หลังจากได้รับอุปกรณ์คือหมวกสานคนละใบแล้ว เราก็กระโดดขึ้นรถอีแต๊กพร้อมออกไปผจญภัยในทุ่งกว้าง เส้นทางในชุมชนอะเมซิ่งมาก ส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรังที่ชาวบ้านใช้สัญจร ในช่วงหน้าฝน บางช่วงเป็นหลุมบ่อ แต่พี่โชเฟอร์ชำนาญทางมาก สามารถหักหลบหลุมและเลี้ยวได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งที่หน้ารถอีแต๊กยาวมาก แต่กระนั้นช่วงที่ต้องขึ้นเนินสูงๆ ก็ต้องขอแรงจากผู้โดยสารลงไปเข็นรถบ้าง เป็นบรรยากาศการเดินทางที่สนุกสนานและได้อรรถรสมากๆ สองข้างทางเป็นไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง สวนยาง สวนผัก ผลไม้ ที่ชาวบ้านปลูกไว้ บางช่วงเราก็จะได้เห็นนาข้าว ซึ่งเป็น ‘ข้าวไร่’ ที่ชาวบ้านปลูกไว้กินเอง ถ้ามีเหลือก็ขายบ้าง ข้าวที่ขึ้นชื่อของอำเภอน้ำหนาวคือ “ข้าวพญาลืมแกง” ซึ่งมีความหอมเป็นเอกลักษณ์มาก

ใช้เวลานานพอสมควรก็มาถึงจุดชมวิวภูฮี ภาพที่เห็นตรงหน้าทำให้ลืมความเมื่อยล้าไปหมดสิ้น เพราะเป็นจุดชมวิวภูเขาที่สวยที่สุด ไม่มีสิ่งใดมาบดบังสายตาเลย สามารถมองเห็นภูเขาสลับซับซ้อนได้ไกลสุดสายตา สมกับสโลแกนว่า “ชมสามภู นอนดูดาว รับลมหนาวทีภูฮี” สามภูที่ว่า คือ ภูผาจิต ภูหอ ภูกระดึง และถ้าท้องฟ้าเปิดสามารถมองเห็นไปถึงภูผาม่านและภูหลวงเลยทีเดียว บริเวณนี้พี่สาธิตบอกว่าช่วงหน้าหนาวจะเป็นลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสไอหมอกและนอนดูดาวท่ามกลางอากาศหนาวเย็น

จากภูฮีรถอีแต๊กเคลื่อนตัวไปตามเส้นทางเล็กๆ อีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าสู่ลานหินสามสี ซึ่งเป็นลานหินกว้างประมาณ 50 เมตร ยาว 300 เมตร ชื่อเดิมคือลานหินโคกลาดตามลักษณะทางธรณีวิทยาที่มีความลาดเอียง 35 องศา แต่ที่ได้ชื่อว่าลานหินสามสีเพราะลานหินถูกปกคลุมด้วยพืชตระกูลเฟิร์นและมอสแซมด้วยพืชหลายชนิด เช่น กล้วยไม้พันธุ์ม้าวิ่ง ข้าวตอกฤาษี ปราบดอย สร้อยสุวรรณา ฯลฯ ทำให้เกิดสีสันบนลานหินเหมือนปูด้วยพรมธรรมชาติ ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือพรมผืนนี้จะเปลี่ยนสีไปตามฤดูกาล เช่น ฤดูฝนสีเขียว ฤดูร้อนสีน้ำตาลทอง ช่วงหน้าหนาวก็จะเปลี่ยนเป็นพรมผืนใหม่ที่มีลวดลายและสีสันที่แตกต่างไป พี่สาธิตบอกว่าไม่อยากให้นักท่องเที่ยวลงมาเหยียบย่ำพรมธรรมชาติ แต่ครั้งนี้อนุญาตให้พวกเราลงไปสำรวจและเก็บภาพอย่างใกล้ชิด เราลองสัมผัสด้วยเท้าเปล่า รู้สึกนุ่มเหมือนเดินอยู่บนพรมกำมะหยี่เลย เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติจริงๆ ลานหินบริเวณนี้ยังมีพืชพันธุ์อีกหลายตระกูล ซึ่งชาวบ้านเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลเพื่อเป็นข้อมูลให้นักท่องเที่ยวและเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนที่สนใจด้านพฤกษศาสตร์

มาถึงแล้วน้ำตกถ้ำค้างคาว…หลังจากรถอีแต๊กพาเราตะลอนทัวร์มาสามชั่วโมง ท้องก็เริ่มส่งเสียงร้อง พี่สาธิตบอกว่าเราจะปิกนิกกันที่น้ำตก แต่กว่าจะได้กินก็ต้องออกแรงปีนลงมาที่น้ำตกก่อน ระหว่างที่ชาวบ้านและแม่ครัวกำลังเตรียมอาหารกลางวันให้พวกเรา พี่สาธิตก็พาเราไปชมน้ำตกเป็นการเรียกน้ำย่อย น้ำตกถ้ำค้างคาวเรียกตามชื่อถ้ำค้างคาว ซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆ เดินแค่ 20 นาทีก็ทั่ว ข้างในมีหินงอก หินย้อย และค้างคาว จากนั้นเราก็ลัดเลาะไปตามโขดหิน ซึ่งโชคดีวันนี้น้ำไม่แรงมากนัก มองเห็นชั้นน้ำตกเล็กๆ ที่ไหลรินลงไปด้านล่างเป็นแอ่งน้ำใหญ่ ตรงนี้เด็กๆ สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย แม้จะเป็นน้ำตกขนาดเล็กแต่สวยงามด้วยประติมากรรมหินที่เกิดจากการกัดกร่อนตามธรรมชาติ เป็นอันซีนที่อยากให้ลองมาสัมผัสสักครั้ง

อาหารกลางวันของเราวันนี้เป็นหลามไก่หรือไก่กระบอก น้ำพริกหนุ่มกินกับผักต้ม ไข่เจียว ทอดมันหัวปลี และข้าวเหนียว อยากบอกว่าเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่ง “อาหารหลักร้อยแต่วิวหลักล้าน” ได้นั่งกินข้าวบนลานหินท่ามกลางขุนเขาและสายน้ำ ฟังเสียงน้ำตกกระทบแผ่นหินดังซู่ซ่า อากาศเย็นสบาย ทำให้เจริญอาหารที่สุด โดยเฉพาะน้ำพริกหนุ่มฝีมือแม่ครัวที่นี่ยกนิ้วให้เลย ซึ่งอาหารและผลไม้เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ตบท้ายด้วยกาแฟที่เสิร์ฟมาในกระกอกไม้ไผ่พร้อมหลอดไม้ธรรมชาติ อยากให้ร้านกาแฟแบรนด์ดังมีแบบนี้บ้างจัง

อยากมาสัมผัสบรรยากาศอันซีนแบบนี้ ติดต่อโปรแกรมท่องเที่ยวบ้านห้วยหญ้าเครือ ค่าบริการรถอีแต๊ก ราคา 250 บาท/คน ถ้ารวมอาหารกลางวันเพิ่ม 100 บาท/คน ติดต่อท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านห้วยหญ้าเครือ โทร. 08 5736 0080  

สัมผัสทะเลหมอกในอ้อมกอดของขุนเขาที่ยอดภูทับเบิก

ภูทับเบิก เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยความที่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเพชรบูรณ์ คือสูงจากระดับน้ำทะเล 1,768 เมตร อากาศจึงหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมารับไอเย็นกันแน่นขนัด ทำให้รถติดเป็นทางยาวกันเลยทีเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วภูทับเบิกในช่วงฤดูฝนก็สวยไม่แพ้กัน ซ้ำยังมีสายหมอกตลอดทั้งวัน แถมยังไม่ต้องไปเบียดเสียดกับนักท่องเที่ยวให้เสียอารมณ์ ทุกอย่างดูชิลล์กว่ามากค่ะ

ภูทับเบิกเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่สวยที่สุดของเพชรบูรณ์ มีสายหมอกปกคลุมยอดเขาที่สลับซับซ้อนเกือบตลอดทั้งปี บางครั้งจะมีทะเลหมอกขนาดใหญ่หลามไหลเข้ามาล้อมรอบตัวจนแทบจะมองไม่เห็นอะไร ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุกคนถึงดั้นด้นมาสัมผัสกับทะเลหมอกที่ภูทับเบิก

ที่ภูทับเบิกคุณจะมีหมอกเป็นเพื่อนตลอดทั้งวัน ยามเช้าไอหมอกจะแวะมาทักทายนักท่องเที่ยวพร้อมกับไอเย็นจากยอดดอย บางครั้งยามสายไอหมอกก็ยังไม่จางหาย เหมือนอยู่ในอ้อมกอดของสายหมอกตลอดเวลา ยามค่ำคืนเมื่อมองลงไปจะเห็นแสงไฟของชุมชนด้านล่างเปล่งประกายระยิบท่ามกลางความมืดมิดราวกับดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นที่มาของ “ดาวบนดิน” ซึ่งเลื่องลือในหมู่นักท่องเที่ยว สมกับสโลแกน “นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน”

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของภูทับเบิกคือ “วิถีชาวม้ง” ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาที่อพยพเข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านทับเบิกตั้งแต่ปี 2525 และยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น หนึ่งในนั้นคือการทำแปลงเกษตรแบบขั้นบันได ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้เราจะเห็นไร่กะหล่ำปลีกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งหุบเขา จนกลายเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของภูทับเบิก ที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะชมและถ่ายภาพ ไม่แพ้กับช่วงเดือนมกราคมซึ่งดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยที่บานสะพรั่งไปทั้งภูเขา ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและถ่ายรูปสวยๆ ทุกปี

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาพักแรมที่ภูทับเบิก ต้องจองบ้านพักล่วงหน้า เพราะรีสอร์ทที่พักมีไม่มาก แต่จะมีลานสำหรับกางเต็นท์ไว้บริการหลายจุด หรือจะนำเต๊นท์มากางเองก็ได้ มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ ร้านอาหารและร้านค้าไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก่อนกลับอย่าลืมซื้อผักและผลไม้เมืองหนาวขึ้นชื่อของภูทับเบิก ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี ถั่วลันเตา เบบี้แคร์รอต บัวสวรรค์ อโวคาโด ลูกพลับ ลูกไหน เซียนท้อ แอปเปิล แก้วมังกร สดใหม่ ราคาไม่แพง   

วัดป่าภูทับเบิก…วัดที่สูงที่สุดในประเทศไทย

ขากลับเราแวะไปไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลที่วัดป่าภูทับเบิก ซึ่งเป็นวัดที่สูงที่สุดในประเทศไทย ปกคลุมด้วยต้นไม้หนาแน่น ทำให้อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เดิมเป็นสำนักสงฆ์ เนื้อที่ 50 ไร่ ชาวบ้านร่วมกันก่อสร้างเมื่อปี 2534 ความสำคัญคือเป็นสถานที่รับน้ำฟ้ากลางหาว เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทำน้ำพุทธมนต์ในพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2542

วัดป่าภูทับเบิกไม่เพียงเป็นวัดที่ชาวหล่มเก่าให้ความเคารพนับถือเท่านั้น แต่ยังเป็นวัดที่พี่น้องประชาชนจากทั่วประเทศรวมถึงคนที่มีชื่อเสียงเลื่อมใสศรัทธา และเดินทางมาร่วมทำบุญสร้างพระมหาเจดีย์โพธิปักขิยธรรม เจดีย์เพชร 37 ยอด ความสูง 80.90 เมตร ซึ่งพระอาจารย์วัชระ วิจิตโต มีดำริให้สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี 2559 ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ใช้งบประมาณ 250 ล้านบาท

ภายในวัดมีพระวิหารทองวิจิตร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานและพระบรมสารีริกธาตุ หน้าประตูมีพญานาคเงิน พญานาคทอง 9 เศียร ภายในวัดยังพระพุทธรูปและเทพศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะมากมาย รวมถึงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายแห่ง บรรยากาศภายในวัดสงบเงียบมาก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม

วัดป่าภูทับเบิกยังเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่ง บนหอฉันสามารถมองเห็นวิวภูทับเบิกและหมู่บ้านหล่มสักผ่านสายหมอก และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุดอีกด้วย ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ต้นนางพญาเสือโคร่งหรือดอกซากุระเมืองไทยจะบานสะพรั่งระหว่างทางไปวัดป่าภูทับเบิกสวยงามตระการตา ถ้ามีโอกาสอย่าลืมแวะมาสักการะพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศที่วัดป่าภูทับเบิกกันนะคะ

ขอบคุณ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์  ประจำปี 2562