เพราะทุกคนรักชีวิตตัวเอง เปิดเส้นทางจาก “นักสูบ-นักดื่ม” สู่ เยาวชนแกนนำพาเพื่อน-ครอบครัวเลิกปัจจัยเสี่ยง
“มีคนในครอบครัว ที่สูบบุหรี่แล้วเขาป่วย ต้องเจาะคอ และพูดไม่ได้ เสียงหายไป ผมเอาเรื่องนั้นมาเล่าให้ครูฟัง และบอกครูว่าจะไม่สูบบุหรี่อีกแล้ว ตอนนี้เลิกมาได้ 2 ปีแล้วครับ”
นี่คือคำบอกเล่าจาก นายปริญญา ผสมทรัพย์ นักศึกษาชั้น ปวส.1 สาขาช่างยนต์ นักศึกษาแกนนำวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต ที่วันนี้เขาเป็นรุ่นพี่แกนนำนักศึกษา ในโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา จากการสนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เขาเล่าว่า ในช่วงที่เรียนอยู่ ปวช.3 เป็นคนที่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ โดยสูบบุหรี่มวนที่มีวางขาย โดยวัยรุ่นเรียกกันว่า “บุหรี่นอก” ซึ่งที่ จ.ภูเก็ต จะมีหลายยี่ห้อที่เข้ามาขาย ซึ่งเข้าถึงง่ายและราคาถูกกว่าบุหรี่ที่วางขายอย่างถูกกฎหมาย “คนที่นี่เขารู้กันครับ ราคาเข่าถึงง่าย กล่องละ 40 บาท กล่องละ 20 ตัว มีเพื่อนแนะนำแหล่งขายมา”
นายปริญญาเล่าอีกว่า การที่เลิกบุหรี่ได้ เพราะวันหนึ่งเขาพกบุหรี่มาที่วิทยาลัย “ครูโชติพงศ์ สังข์น้อย” มาตรวจกระเป๋าและยึดบุหรี่ และชวนเข้าโครงการฯ จนทำให้เลิกได้สำเร็จนจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 2 ปี และพลิกชีวิตเขาให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“ครูเขาอยากให้เรารู้ถึงภัยบุหรี่ เลยพาผมเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ได้เรียนรู้ว่าพิษภัยของบุหรี่มีอะไรบ้าง แล้วจะมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ สูบอย่างไรบ้าง ชีวิตหลังเลิกบุหรี่เปลี่ยนไปอย่างมาก ก่อนหน้าที่จะเลิก เป็นนักร้องในวงดนตรี พอสูบบุหรี่ทำให้ไม่สามารถร้องเพลงเสียงสูงได้ นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คิดเลิก เพราะบุหรี่อาจทำลายอาชีพตรงนี้ของเราได้” นายปริญญา กล่าว
เมื่อสอบถามถึง “บุหรี่ไฟฟ้า” ปริญญา บอกว่า “ไม่ได้สูบ” แต่เคยเห็นเพื่อนสูบ และเพิ่งได้มารู้จักกับ Toy Pod ช่วงปีใหม่ในร้านอาหารมีวางโชว์ที่เคาท์เตอร์ พนักงานบอกว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า
“ตอนนั้นมันดูน่าดึงดูดใจมาก แต่พอบอกว่าคืออบุหรี่ มันน่าจะส่งผลต่อร่างกายแน่นอน อยากบอกกับผู้ผลิตว่า พวกคุณผลิตออกมาขายจำนวนมาก คุณได้กำไร แต่คุณไม่เคยรู้เลยว่าคุณอาจทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งสั้นลง” นายปริญญา กล่าว
เช่นเดียวกับ นายอนุวัฒน์ ตุลา นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาช่างยนต์ นักศึกษาแกนนำวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ มาเป็นปีที่ 2 แล้ว จุดเริ่มต้นที่เข้าร่วม คือ เขาเคยสูบบุหรี่ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า เพียงเพราะอยากเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ กระทั่งถูกครูตรวจกระเป๋าเจอบุหรี่ และครูมีสองทางให้เลือกคือ เรียกผู้ปกครอง กับ เลิกบุหรี่ เขาจึงเลือกเส้นทาง “เลิกบุหรี่” เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เดือดร้อน ยอมรับว่า ในช่วงที่สูบ มีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ส่งผลให้การเล่นกีฬาทำได้ไม่เต็มที่
“ผมเล่นกีฬามวยครับ รู้สึกว่าตอนสูบร่างกายไม่แข็งแรง หายใจไม่สะดวก จะสอนน้อง ๆ ก็ทำได้ไม่เต็มที่ แต่พอเลิกสูบ รู้สึกร่างกายแข็งแรงขึ้น และพอแม่ได้รู้ว่าเลิกได้ท่านก็ดีใจ ตอนนี้เหลือเพียงว่า อยากให้พ่อเลิกสูบไปด้วย เพราะอยากให้ท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่กับเราไปนาน ๆ” นายอนุวัฒน์ กล่าว
ขณะที่ นางสาวสุวนิต จงจิตร นักศึกษาชั้น ปวช.1 สาขาการโรงแรม นักศึกษาแกนนำวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เพราะอยากให้พ่อแม่เลิกสูบ เพราะตัวเธอสุขภาพไม่ดี มีปัญหาเรื่องปอด ทำให้เมื่อได้กลิ่นบุหรี่ก็แพ้ เชื่อว่าการเข้ามาร่วมโครงการฯ นี้ จะทำให้ได้ความรู้และนำไปบอกพ่อแม่ให้เลิกได้
“หนูบอกว่าพ่อ พ่อสูบบุหรี่เยอะจะทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น ร่างกายไม่แข็งแรง แม้ว่าท่านจะบอกว่าเลิกยาก ทำไม่ได้ หนูก็พยายามบอกว่าถ้ายังเลิกไม่ได้ ก็ขอให้พ่อลดการสูบลง เพราะพ่อสูบหนักมาก ส่วนคุณแม่อาจจะสูบไม่มากนักแต่ก็เป็นห่วง ที่ผ่านมาหนูต้องแยกบ้านอยู่กับพ่อแม่ แต่ก็ห่วงน้องที่ยังอยู่บ้านเดียวกัน น้องก็จะเป็นคนได้กลิ่น หนูอยากบอกว่าหนูรักพ่อกับแม่มากอยากให้ท่านเลิกจริง ๆ อยากให้อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ อยากให้ได้ทันเห็นความสำเร็จของหนู”
นางสาวสุวนิต บอกอีกว่า เพื่อน ๆ ที่เป็นผู้หญิงในวิทยาลัยก็สูบเหมือนกัน เพราะเขาอยากรู้อยากลองตามเพื่อน ๆ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ก็ได้พยายามเตือนเท่าที่ทำได้ โดยให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพ และการสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ
นายโชติพงศ์ สังข์น้อย ครูแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคถลาง ครูแกนนำ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคถลางได้เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2565 มีนักศึกษาแกนนำมาแล้ว 2 รุ่น โดยในช่วงย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะอยู่ในช่วงที่อยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าถ้าไม่ทำจะคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เด็ก ๆ สูบบุหรี่ เพราะ อยากเท่ อยากให้สาวมอง แต่ไม่ทราบผลกระทบในระยะยาว เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ ที่จะสะสมไปเรื่อย ๆ โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ๆ ทางวิทยาลัยได้มีมาตรการ คือ 1. กำหนดจุดเสี่ยง ในวิทยาลัย โดยมีการตั้งครูเวรยามคอยตรวจตราพื้นที่เสี่ยงนั้น เช่น ห้องน้ำ มุมอับ ที่ลับตาคน 2. มีการรณรงค์ในวันสำคัญต่างๆ อบรม ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้นักเรียนรู้ถึงโทษของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเหล้า
“เด็กจะคิดแค่ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เท่ หรือที่ภาษาใต้พูดว่า “หรอย” แต่มองข้ามเรื่องผลกระทบที่ตามมา ส่วนเรื่องการต่อต้านในสิ่งที่สอน อาจจะมีบ้าง แต่ครูพยายามที่จะใช้ใจแลกใจ ให้เห็นความจริงใจของครู ต้องขอบคุณ สสส. ที่เข้ามาสนับสนุนและให้ความสำคัญกับเยาวชน ที่รู้สึกชอบมาก ๆ คือการสร้างนักเรียนแกนนำ ให้เขาได้มาร่วมกันทำงาน คิดโครงการ วางแผนรวมกับครู เพราะนักเรียนกับนักเรียนเขาคุยกันง่ายกว่าคุยกับครู” นายโชติพงศ์ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สสส.) กล่าวว่า สสส. เข้ามาทำงานเรื่องนี้ เพราะภาษีสรรพสามิตได้ปีหนึ่ง 6,400 ล้าน ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดโรคจากบุหรี่ 140,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าหลายเท่า ปัจจุบันความอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ คือ “การทำหน้าตาแบบใหม่ ให้เข้าถึงง่าย” โดยยกตัวอย่าง “TOY POD” ที่มีหน้าตาเหมือนของเล่น คล้ายตุ๊กตาสะสม หน้าตาน่ารัก เป็นความพยายามของผู้ผลิตที่ต้องการทำให้เด็กที่อายุน้อยลงเข้าถึงง่ายขึ้น แต่ไม่เคยบอกเลยว่ามีสารอันตรายอยู่ ไม่ว่าจะเป็น นิโคติน สารที่ทำให้เกิดละอองไอน้ำ สารปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งเป็นอันตรายทั้งสิ้น
“จากสถิติยังพบว่า เด็กและเยาวชนไทย สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ในรอบ 7 ปี และจากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 สถิติผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้น 7.9 เท่า เนื่องจากส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า การที่สามารถใช้ของเหมือนผู้ชายจะทำให้สามารถกลายเป็นผู้นำได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริงๆ แล้วมีผู้หญิงหลายคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยความสามารถ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว