วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน จัดเวทีเสวนาโครงการ “หยุดสูบได้ไหม ไม่ไหวจะดมจ้ะ”

แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ผู้ที่เคยสูบ หวังสร้างความตระหนักรู้ ป้องกันปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ด้าน สสส. ร่วมเสริมเกราะด้วย “องค์ความรู้” ดึง “แดเนียล” ศิลปินคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างแรงบันดาลใจ

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมโครงการนวัตกรรมตรวจจับควันบุหรี่ในสถานศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวก โดยมีวิทยากร สสส. ให้ความรู้ และศิลปินคนรุ่นใหม่ “แดเนียล วิวัฒน์วงศ์ ดูวา” รวมแบ่งปันประสบการณ์ เสริมพลังแก่เยาวชน

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ดำเนินการมา 2 ระยะ ขยายความร่วมมือไปยัง วิทยาลัยจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศรวม 45 วิทยาลัย โครงการได้สร้างแกนนำทั้งครูและนักศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการเผยแพร่องค์ความรู้ ชักชวนร่วมกิจกรรม และเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันไม่ให้เยาวชนโดยเฉพาะในสายอาชีพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือสารเสพติดชนิดอื่น ที่สำคัญยังเป็นกำลังสำคัญในการที่จะชักชวนให้ลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในนามของ สสส. หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายให้การสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะคนไทย มีความเป็นห่วงต่อเด็กและเยาวชนสายอาชีพ กำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้สนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องเยาวชนจากพิษภัยของสารเสพติดได้

“สถานการณ์การบริโภคบุหรี่และยาสูบในไทย แม้ว่ามีแนวโน้มโน้มลดลง แต่กลับพบจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่เจาะกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก จากผลสำรวจปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า คือ จาก 3.3 % ในปี 2558 เป็น 17.6 % ในปี 2565

โดยกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะผิดกฎหมาย แต่ก็แอบขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีการโฆษณาส่งเสริมการขาย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 และยังพบตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซองและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติโด 31.1% เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และ 36.5% เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นายชัชวาล ใจจักรคำ หัวหน้างานปกครอง วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน ครูแกนนำ กล่าวว่า โครงการที่เด็กได้ทำมีชื่อโครงการว่า “หยุดสูบได้ไหม ไม่ไหวจะดมจ้ะ” ในโครงการก็จะมีการให้ความรู้กับเด็กเรื่องของโทษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีกิจกรรมการเสวนาให้เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการทำอย่างไรให้เราห่างไกล หรือปฏิเสธเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และมีการทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ระเบิดความคิดให้เด็กรู้โทษภัยของยาเสพติด หลังจากนั้นมีการตอบคําถามเพื่อรับของรางวัล โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 263 คน ซึ่งรวมทั้งผู้บริหาร ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา โดย หลังจากดำเนินกิจกรรมแล้วผลที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เด็กไม่พกพาบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียน ในพื้นที่ห้องน้ำ มุมอับเด็กก็ไม่มีพฤติกรรมสูบ ทำให้วิลัยปลอดบุหรี่ได้เกือบ 100 % นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการสุ่มตรวจนักศึกษาที่เข้ามาภายในวิทยาลัยทั้งทางเข้า ทางออก ในจุดอับหรือจุดเสี่ยงตลอดทั้งปี

“มีจำนวนผู้สูบน้อยลง แทบจะไม่เห็นเลยครับ ในส่วนของการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า น้อง ๆ รุ่นใหม่ก็คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าคงไม่เป็นอะไรมาก เนื่องจากมันมีลักษณะที่สวยงาม และมีกลิ่นที่ไม่รุนแรงมาก แต่จริงๆ แล้ว บุหรี่ไฟฟ้ามีความรุนแรงนะครับ อนุภาคที่สูบเข้าไปรุนแรงสูงกว่า บุหรี่เป็นมวน อยากให้น้องๆ ลด ละ เลิก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง”

นายจักรกฤษณ์ แจ่มศรี นักศึกษาแกนนำ วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า จากการได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการ สสส. กับเพื่อนวิทยาลัยอื่นในพื้นที่ภาคเหนือ ก็ได้นำกลับมาต่อยอดกิจกรรมภายในวิทยาลัยชื่อว่า “หยุดสูบได้ไหม ไม่ไหวจะดมจ้ะ” เพื่อเป็นการเชิญชวนให้คนเลิกสูบ เพราะกลิ่นและควันบุหรี่ทำลายทั้งสุขภาพตนเอง คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าการตั้งชื่อโครงการในตอนแรกจะเป็นการตั้งกันเล่นๆ เชิงขบขัน แต่โครงการสามารถขับเคลื่อนและต่อยอดเป็นกิจกรรมในวิทยาลัยได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเสวนา ภายใต้หัวข้อ “คิดเห็นอย่างไรกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งผู้ที่ขึ้นไปแลกเปลี่ยนบนเวที คือเพื่อนๆ น้องๆ นักศึกษา ที่เคยผ่านการทดลองใช้แล้วเห็นผลกระทบที่รุนแรงจากบุหรี่ มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งได้รับการตอบรับในการให้ความร่วมมืออย่างดี เกิดผลดีกับนักศึกษาที่ทำให้เกิดความตระหนักรู้ รวมทั้งการจัดกิจกรรรมกลุ่มสัมพันธ์ และบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และมีการร่วมสนุกตอบคำถามแจกของรางวัลอีกด้วย

นางสาวอรวรรณ สมัยสกุลวนา นักศึกษาแกนนำ วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีโครงการนี้ขึ้นมา และอยากขอบคุณ สสส. ที่มีโครงการนี้ เพราะเหมือนเป็นโครงการที่เข้ามาเสริมสร้างองค์ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเพื่อน ๆ นักศึกษาในวิทยาลัย แล้วก็สร้างความสุขให้เรารู้จักตัวตนของเราค่ะ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีการเปลี่ยนแปลงต่อนักเรียนแล้วก็บุคลากร เช่น มีนักเรียนสูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยลง จากที่เมื่อก่อนเวลาที่เดินผ่านห้องน้ำจะพบเห็นควันบุหรี่ หรือกลิ่นบุหรี่ พอมันมีโครงการนี้ขึ้นมา การสูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยลง มีกิจกรรมที่ดี และสร้างสรรค์เข้ามาแทนที่

“อยากจะฝากถึงเพื่อนๆ ที่คิดอยากจะลองบุหรี่ไฟฟ้า มันไม่ได้ดีอย่างที่คิดนะคะ มันส่งผลทั้งต่อตัวเราเองแล้วก็ต่อร่างกาย ต่อครอบครัวของเราค่ะ หากคิดอยากจะลองขอให้คุณคิดให้ดี ๆ ก่อน เพราะว่ากว่ามันจะออกมาได้ มันยากมากเลยค่ะ” นางสาวอรวรรณ กล่าว