กินเพลินเดินเก๋เท่อย่างใต้@ นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี
กินเพลินเดินเก๋เท่อย่างใต้@ นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี
อดรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้กับการเดินทางครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เราจะได้กลับไปย้อนรอยเส้นทางนี้อีกครั้ง กลับไปซึมซับความงามของบ้านเมือง ธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมที่ยังคงรักษาขนบประเพณีทางศาสนาไว้อย่างเคร่งครัด และที่พิเศษสุดๆ คือทริปนี้เราจะได้ชิมอาหารถิ่นที่หากินได้ยากอีกด้วย ครบเครื่องตามสโลแกน “กินเพลินเดินเก๋เท่อย่างใต้” โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมมหกรรมอาหารเพื่อการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์อาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดทางภาคใต้ โดยมี 3 จังหวัดสุดปลายด้ามขวาน “นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี” เป็นเส้นทางสุดท้ายของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2561
เราใช้เวลาเพียงชั่งโมงเศษๆ ก็มาเดินปร๋ออยู่ที่ท่าอากาศยานนราธิวาสแล้ว จากตัวเมืองเรานั่งรถต่อไปที่อำเภอตากใบเพื่อชมสะพานคอย 100 ปี สะพานไม้เก่าแก่ซึ่งเชื่อมตัวอำเภอตากใบกับเกาะยาว ปัจจุบันมีสะพานคอนกรีตสร้างขึ้นใหม่คู่ขนานกันไป นอกจากจะใช้เป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดท้าทายให้นักท่องเที่ยวมาเดินข้ามสะพานไม้ที่มีความยาว 345 เมตร ชมธรรมชาติของแม่น้ำตากใบ เมื่อเดินข้ามไปถึงฝั่งเกาะยาวจะได้พบกับชายหาดกว้างตัดกับท้องฟ้าสีคราม บรรยากาศเหมาะกับการหย่อนใจ อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของชาวเมืองนราธิวาสคือ “หาดนราทัศน์” ซึ่งมีแนวหาดยาวต่อเนื่องถึง 5 กิโลเมตร ร่มรื่นด้วยทิวสนตลอดแนว ด้วยความที่อยู่ในตัวเมืองจึงค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ ช่วงแดดร่มลมตกเราจะเห็นชาวบ้านมานั่งปิกนิกกันริมหาดรับลมเย็นและเล่นน้ำทะเลสนุกสนาน เป็นวิถีชีวิตอีกมุมหนึ่งของชาวนราธิวาสที่พลอยรู้สึกสุขใจไปด้วย
มาถึงนราธิวาสแล้วถ้าไม่ได้แวะชม “มัสยิด 300 ปี” ที่อำเภอบาเจาะถือว่าพลาด เพราะ “มัสยิดตะโละมาเนาะ” ถือเป็นมัสยิดเก่าแก่ของจังหวัด ปัจจุบันอายุ 394 ปี ตัวมัสยิดสร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ด้วยภูมิปัญญาช่างโบราณโดยไม่ใช้ตะปูเลย ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยพื้นเมือง จีนและมาลายู ผสมผสานกันอย่างลงตัว มัสยิดตะโละมาเนาะนับเป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต เพราะปัจจุบันยังคงใช้ประกอบศาสนกิจของชุมชน และเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนที่ร่วมมือกันอนุรักษ์เอาไว้
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมแล้ว นราธิวาสยังมีอาหารถิ่นที่นักชิมไม่ควรพลาด เช่น “กือโป๊ะ” หรือข้าวเกรียบสดทอด ทำด้วยเนื้อปลาทะเลสดบดละเอียดผสมกับแป้งและเกลือ ปั้นเป็นแท่งยาว นำไปต้มจนสุก ผึ่งไว้ให้แห้ง แล้วหั่นเป็นแผ่นบางๆ ทอดในน้ำมันร้อนๆ กินกับน้ำจิ้มรสเด็ด ราคาถุงละ 20 บาท ร้านกือโป๊ะต้นตำรับเจ้าแรกของนราธิวาสคือ “ร้านเมาะซู” ตั้งอยู่ที่ถนนนิมิตมงคลใกล้กับหาดนราทัศน์ ลองแวะไปชิมกัน
“โรตี” เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารกินเล่นที่กินกันแบบจริงจังมาก ช่วงหัวค่ำชาวนราธิวาสจะออกมานั่งจิบชากับโรตีกันที่ ร้านแอโรตี (ลูกอาแบลี) ร้านดังของจังหวัดที่สืบทอดจากรุ่นพ่อ ที่นี่มีโรตีหลากหลายให้เลือก เช่น โรตีมะตะบะ โรตีกล้วย โรตีไข่ดาว โรตีไมโล ขนมปังชุบไข่ กินกับเครื่องดื่มร้อน-เย็น เช่น แตออ (ชาใส่น้ำตาล) ชานม กาแฟออ กาแฟนม ฯลฯ ร้านเปิดตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. ปิดวันอาทิตย์
มาถึงนราธิวาสต้องแวะมาที่ สวนอาหารนัดพบยูงทอง ร้านดังของอำเภอตากใบที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ มาเสวยหลายพระองค์ เมนูโปรดของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ “ยำมะม่วงเบา” หน้าตาน่ากินมาก หอมกลิ่นกุ้งแห้งโขลกและปลาฉิ่งฉ่าง อีกเมนูเด่นคือ “กุ้งต้มกะทิสดยอดมะพร้าว” รสชาติกลมกล่อมเนื้อกุ้งกุลาดำหวานอร่อย อีกเมนูที่ต้องสั่งคือ “ปลากุเลาเค็ม” ราชาแห่งปลาเค็ม แค่ซอยพริกขี้หนู หอมแดง บีบมะนาวก็อร่อยแล้ว ถ้าติดใจซื้อเป็นของฝากได้นะคะ แต่ถ้าอยากกินข้าวเคล้าบรรยากาศสวนสวยริมน้ำบางนราต้องมาที่ สวนอาหารริมน้ำ ร้านอาหารชื่อดังเก่าแก่ของนราธิวาส ยิ่งมาในช่วงตะวันตกดินบรรยากาศริมน้ำสวยจับใจ เมนูอาหารมีให้เลือกหลากหลาย เช่น ไก่มะนาว ปูผัดผงกระหรี่ ห่อหมกซีฟู้ดเสิร์ฟในมะพร้าวอ่อน อาหารอร่อยวิวสวย เพลินจนไม่อยากกลับเลยละ
ทริปกินเพลินเดินเก๋เท่อย่างใต้ เดินทางต่อไปที่จังหวัดยะลา ดินแดนสุดปลายด้ามขวานของไทย ระหว่างทางอย่าลืมแวะถ่ายรูปบนสะพานข้ามแม่เขื่อนบางลาง ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2555 นอกจากจะช่วยย่นระยะทางจากนราธิวาส-ยะลาได้แล้ว ยังเป็นจุดชมวิวเขื่อนบางลางที่สวยที่สุดอีกด้วย มาถึงยะลาแล้วต้องไปให้ถึงด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อเก็บภาพเป็นที่ระลึกว่ามาสุดชายแดนใต้แล้วนะ
มาถึงตัวเมืองเบตงต้องเดินสัมผัสกับกลิ่นอายของตึกรามบ้านช่องเก่าๆ และสนุกกับการถ่ายรูปคู่กับกราฟิตี้เก๋ๆ ตามผนังตึกต่างๆ อีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องเข้าคิวถ่ายรูป เพราะเป็นแลนด์มาร์คของเบตงคือตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความสูง 2.90 เมตร เส้นรอบวง 1.40 เมตร ตั้งอยู่ใกล้กันเป็นหอนาฬิกา จากตรงนี้สามารถมองเห็นอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย ความยาว 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2544
ใจกลางเมืองเบตงมีวัดพุทธาธิวาสตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นที่ประดิษฐานของพระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ พระมหาเจดีย์ที่งดงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สูง 39.9 เมตร กว้าง 39 เมตร ภายในบรรจุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งชาวอำเภอเบตงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างขึ้นเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของชาวเบตงคือ “สวนสุดสยาม” ตั้งอยู่บนเนินเขากลางเมืองเบตง และเป็นจุดชมทัศนียภาพในมุมกว้างของตัวเมือง ภายในพื้นที่ 76 ไร่ ร่มรื่นไปด้วยไม้ยืนต้นไม้ดอกและประติมากรรมสนุกๆ รูปคนและสัตว์ต่างๆ ที่นี่ยังมีสวนสุขภาพ สนามกีฬา พิพิธภัณฑ์ ใกล้กันมีประติมากรรม “111 ปี ร้อยรวมใจเมืองเบตง” ผลงานของครูไผ่ กิตพิสันต์ นิลพิศุทธ์ ประติมากรรมรูปมือประสานกันเป็นสัญลักษณ์รูปหัวใจ สะท้อนถึงความรักและรวมใจเป็นหนึ่งของชาวเบตง ถ้ามีเวลาพอลองแวะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์เมืองเบตงที่รวบรวมศิลปวัตถุและภาพถ่ายโบราณไว้ ชั้นบนยังเป็นจุดชมวิวมุมสูงเมืองเบตงอีกด้วย
สำหรับเราไฮไลต์ของทริปนี้คือจุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ตำบลอัยเยอร์เวง ที่เพิ่งได้รับการโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ไม่นาน แม้ว่าเส้นทางค่อนข้างจะคดเคี้ยวหลายโค้ง แต่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวมาเลย์ก็ไม่ลดละที่จะเดินทางมาจับจองพื้นที่ชมทะเลหมอกกันตั้งแต่เช้ามืด และรอบันทึกแสงแรกของตะวันไปพร้อมๆ กัน นักเดินทางหลายคนออกปากเลยว่าทะเลหมอกที่อัยเยอร์สวยที่สุด ทะเลหมอกหนาลอยตัวอยู่ทั่วบริเวณให้สัมผัสกันแบบเต็มอิ่ม แม้ช่วงสายๆ แล้วหมอกก็ยังไม่จางหายไป สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายแล้ว เบตงยังเป็นสวรรค์ของนักชิม ทริปนี้คัดเฉพาะเมนูเด็ดของเบตงมาให้ลิ้มลอง เริ่มด้วยเฉาก๊วยขนมขึ้นชื่อของเบตง นอกจากจะได้ชิมเฉาก๊วยเนื้อเหนียวนุ่มหอมอร่อยแล้ว พี่กมลเจ้าของร้านเฉาก๊วยเบตง กม.4 ยังใจดีให้เข้าไปดูวิธีทำเฉาก๊วยถึงหลังบ้าน เคล็ดลับคือหญ้าที่ทำเฉาก๊วยสั่งตรงจากเมืองจีน กวนในกระทะใบโตด้วยเตาถ่าน ทำให้ได้เนื้อเฉาก๊วยเหนียวนุ่ม ที่ร้านยังขาย “ขนมด่าง” ซึ่งหากินยากมาก ทำด้วยแป้งผสมน้ำด่าง กินกับซีอิ้วดำและน้ำมันกระเทียมเจียวหอมๆ
มาถึงเบตงไม่กินข้าวมันไก่บอกเลยว่าไม่ถึง แนะนำร้านเจริญข้าวมันไก่เบตงพันธุ์แท้ (สท.แม้ว) ร้านเก่าแก่กว่า 30 ปี ไม่มีสาขา เคล็ดลับคือใช้ไก่พันธุ์เบตงจากเมืองจีน อายุ 6 เดือน เนื้อไก่นุ่ม หนังกรอบ ชูรสด้วยน้ำราดไก่สับและน้ำจิ้มสูตรเฉพาะของทางร้าน ร้านนี้ยังมีข้าวหมูแดง หมูกรอบ ข้าวขาหมู น้ำจิ้มขาหมูรสแซ่บ อร่อยไม่แพ้กัน เบตงยังขึ้นชื่อเรื่องอาหารจีน “ร้านต้าเหยิน” เป็นภัตตาคารเก่าแก่ที่แขกไปใครมาต้องแวะกินกันแน่นร้านทุกวัน เมนูเด็ดคือไก่เบตงสับ เนื้อไก่แน่น นุ่ม ไม่กระด้าง ราดด้วยซีอิ๊วดำปรุงรส โรยกระทียมเจียวหอมๆ อีกหนึ่งจานเด็ดคือ “เคาหยก” หมูสามชั้นชิ้นโตปรุงรสกับเต้าหู้ยี้ และเมนูง่ายแต่อร่อยคือ ผัดผักน้ำ ผักพื้นบ้านเบตงที่ต้องสั่ง ยังมีอีกหลายเมนูที่บอกเลยว่าอร่อยสมคำล่ำลือ
กินเพลินเดินเก๋เท่อย่างใต้วันสุดท้ายคือ “ปัตตานี” เมืองที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ทริปนี้เราจะพาไปล่องเรือชมธรรมชาติป่าชายเลนและชิมอาหารถิ่นที่ “ชุมชนท่องเที่ยวบางปู” บ้านบาลาดูวอ อำเภอยะหริ่ง ซึ่งเป็นป่าชายเลนธรรมชาติผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีต้นโกงกางเก่าแก่ขึ้นสูงหนาทึบ ไฮไลต์ของการล่องเรือคืออุโมงค์โกงกางยาว 800 เมตร กว้าง 6 เมตร ที่สวยจนไม่อยากออกมาเลย หรือใครอยากจะลงไปย่ำโคลนเก็บ “หอยกัน” ก็บอกคนเรือได้ ก่อนกลับเรือจะแวะพักที่จุดชมวิวอ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นแคร่ไม้ไผ่ธรรมชาติ เพื่อชมวิถีการทำประมงพื้นบ้าน จากที่คิดว่าการล่องเรือชั่วโมงกว่าคงน่าเบื่อ แต่กลับเพลินชมนกชมไม้จนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่รู้ตัวเลย
กลับมาก็ได้เวลาอาหารกลางวันพอดี สำรับอาหารถิ่นขึ้นชื่อของที่นี่คือ “ยำสาหร่ายผมนาง” หากินได้เฉพาะที่นี่ เป็นสาหร่ายเส้นเล็กละเอียดมาก อีกเมนูคือ “ตูมิ” ปลาโอผัดน้ำขลุกขลิกแบบปลากระป๋อง ส่วนเมนูที่ทุกคนยกนิ้วให้คือแกงส้มปลากะพงรสชาติกลมกล่อมเนื้อปลาสดหวานมาก ไฮไลต์ของมื้อนี้คือ “ปูดำ” ที่ต้องสั่งจองกันล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะปูธรรมชาติหายากมาก เนื้อปูนึ่งสดหวานกินกับน้ำจิ้มรสแซ่บ ที่นี่ยังมีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับบรรยากาศแบบชิลล์ๆ ล่องเรือชมพระอาทิตย์ตก ชมหิ่งห้อยจำนวนมาก สัมผัสกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นอย่างใกล้ชิด เช่น การทำขนมรังผึ้งหรือมาดูฆาตง ขนมรังนกหรือแปแปอูบี และอีกหลายกิจกรรม ติดต่อสอบถาม แบกี (คมกฤช) โทร.08 8389 4508 แบเซ็ง (แวอูเซ็ง) โทร. 08 6 965 4376
หนึ่งในไฮไลต์ของนราธิวาสที่ต้องมาเที่ยวชมคือ “มัสยิดกรือเซะ” มัสยิดเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในความดูแลของกรมศิลปากร และผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้งให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับมัสยิดกรือเซะมีหลายกระแสทั้งสมัยที่ก่อสร้างและสาเหตุที่สร้างไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม มัสยิดกรือเซะยังคงเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวมุสลิม และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของปัตตานีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมความงามของสถาปัตยกรรมแบบตะวันออกกลางและประตูทรงโค้งแบบกอธิกอย่างต่อเนื่อง
ปัตตานียังเป็นที่ตั้ง “มัสยิดกลางปัตตานี” ซึ่งเป็นมัสยิดที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รัฐบาลในสมัยนั้นสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2506 ตัวอาคารมีความงดงามคล้ายกับทัชมาฮาลในอินเดีย ตรงกลางมียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่และโดมขนาดเล็กล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านข้างมีหออะซาน 4 หอ ด้านหน้ามีสระน้ำพุขนาดใหญ่ สะท้อนเงาของมัสยิดสวยงามจับตา มัสยิดกลางปัตตานีเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดปัตตานี สำหรับนักท่องเที่ยวก่อนกลับอย่าลืมแวะสักการะขอพรที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองปัตตานีที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเคารพศรัทธามาช้านาน
สำหรับคนที่ชอบแนวแอดเวนเจอร์ ปัตตานีก็มีสกายวอล์คให้ท้าทายที่ความสูง 12 เมตร ยาว 400 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมความงามมุมสูงของป่าชายเลนและตัวเมืองปัตตานีได้ไกลสุดสายตา แต่จะหวาดเสียวหน่อยตรงที่พื้นทางเดินเป็นตาข่ายเหล็ก สามารถมองลงทะลุลงไปถึงพื้นได้ ถ้าไม่อยากเดินกลับทางเดิมเพราะขาสั่น สามารถลงไปเดินชมป่าชายเลนซึ่งเป็นสะพานปูนได้แบบใกล้ชิด แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ในสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวปัตตานี
มาปัตตานีต้องแวะกินสเต๊ะ ที่ “ร้านสเต๊ะศรีเมืองเจ้าเก่า” ถนนกะลาพอ ซอย 2 ร้านนี้เปิดขายมานานกว่า 70 ปี ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น สะเต๊ะชุดละ 35 บาท สเต๊ะ 6 ไม้ เสิร์ฟพร้อมข้าวบดละเอียดตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ราดด้วยน้ำสเต๊ะรสชาติเข้มข้น กินแกล้มกับอาจาด มีให้เลือกทั้งเนื้อและไก่ ที่นี่ยังมีรอเยาะห์หรือเต้าคั่วขายด้วย บอกเลยว่าร้านหร่อยจังฮู้จริงๆ
ข้าวยำเป็นอาหารปักษ์ใต้ที่ขึ้นชื่อ “ร้านกะมาข้าวยำราชา” ร้านเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง ร้านนี้ข้าวยำอร่อยมาก เสิร์ฟมาในจานรองด้วยใบตอง หน้าตาน่ากิน ทุกโต๊ะต้องสั่ง กินกับปลาย่างเตาถ่านหอมๆ ไข่ต้มและผักสด ร้านนี้ยังมีเมนูอาหารพื้นเมืองอื่นๆ เช่น ละแซะ อาหารโบราณของปักษ์ใต้ หน้าตาคล้ายขนมจีนซาวน้ำ แต่เส้นใหญ่กว่ามาก ทำจากแป้งนำไปนึ่งแล้วม้วนเป็นก้อนหั่นเป็นท่อนๆ ราดน้ำแกงคล้ายน้ำยากะทิ กินกับผักสด เช่น กะหล่ำม่วง ถั่วงอก แตงกวา ถั่วฝักยาว เมนูกินเล่นที่อร่อยไม่แพ้กันคือหมี่กะทิกุ้งและข้าวเหนียวดำมะพร้าวขูด ชิมครบแล้ว “ร้านกะมาข้าวยำราชา” ถนนนาเกลือ ซอย 3 อร่อยทุกเมนูค่ะ
ส่วนอาหารเช้าแนะนำ “โรตีบังหนูด” ชาดีโรตีอร่อย ร้านดังหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะนอกจากจะอร่อย ราคากันเอง ยังมีเมนูให้เลือกหลากหลาย เช่น โรตี มะตะบะเครื่องแน่น อาหารอื่นๆ เช่น ข้าวยำ นาซิดาแฆ ข้ามต้ม ขนมปัง ปาท่องโก๋ ฯลฯ กินกับเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น น้ำชา กาแฟ แตออ (ชาใส่นม) นั่งจิบชากินโรตีเติมพลังในบรรยากาศสบายๆ ก่อนจะไปเริ่มต้นวันใหม่อย่างสดใส
จบทริปกินเพลินเดินเก๋เท่อย่างใต้ เส้นทางนราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี ด้วยความรู้สึกสุขใจเกินคาดหมาย แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็สัมผัสได้ถึงเสน่ห์ที่แตกต่างของทั้งสามจังหวัดที่รอให้ทุกคนมาค้นหาด้วยตัวเอง