จับตานโยบายสวัสดิภาพสัตว์ กับมุมมอง 6 พรรคการเมือง
กรุงเทพฯ, 2 พฤษภาคม 2566 – องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดเวทีถกนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะปัญหาสวัสดิภาพช้างไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมที่นำไปสู่วิกฤติเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงการปลูกพืชเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ที่ส่งผลต่อปัญหาหมอกควัน โดยเปิดรับฟังวิสัยทัศน์และนโยบายสวัสดิภาพสัตว์จาก 6 พรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ระหว่างเวลา 13:00 – 15:00 น. ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ
ขณะที่พรรคการเมืองกำลังมีการประกาศนโยบายต่างๆ อยู่ในขณะนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ติดตามดูนโยบายที่จะสะท้อนถึงการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นของแต่ละพรรค เนื่องจากสัตว์เป็นจำนวนหมื่นล้านตัวทั้งที่อยู่ในระบบสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมและสัตว์ป่า ที่กำลังได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นเครื่องจักร เพื่อผลิตอาหาร เช่น หมู ไก่ หรือช้างที่ถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างความบันเทิง สัตว์เหล่านี้มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นสัตว์ในระบบที่เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คนอย่างแยกไม่ได้ สวัสดิภาพสัตว์ที่ดี จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นด้วย เพราะล้วนอยู่ในห่วงโซ่ชีวิตเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจับตาดูวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ด้วย
คุณโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์สวัสดิภาพสัตว์โดยเฉพาะช้างไทย ในขณะนี้น่าวิตกอย่างยิ่ง การใช้งานช้างอย่างโหดร้ายทารุณในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศมีปัญหาสวัสดิภาพตั้งแต่กระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณ สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ถูกใช้งานหนักและบังคับให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติ รวมทั้งยังมีการบังคับผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์อย่างเสรีซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ช้างในป่าแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามองของทั่วโลก และด้วยกระแสต่อต้านดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกแทรกแซงด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในขณะที่ทิศทางการท่องเที่ยวของโลกได้เปลี่ยนแล้ว กว่า 56 ประเทศได้ออกกฎหมายยกเลิกการใช้งานสัตว์ป่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งออกคำแนะนำไม่ให้นักท่องเที่ยวจากประเทศตนเองสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการใช้งานสัตว์ป่าอย่างโหดร้ายทารุณ หากประเทศไทยยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านี้และไม่เร่งยกระดับสวัสดิภาพช้างโดยด่วน เราก็จะเห็นสัญญาณของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้”
คุณอรกร ธนชลกรณ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้ชี้ถึงสวัสดิภาพสัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงโดยตรงกับเชื้อดื้อยาที่กำลังคุกคามสุขภาพของเรา ว่า “การทำฟาร์มสัตว์แบบอุตสาหกรรม จะเร่งให้สัตว์เติบโต และมีสัตว์จำนวนมากอยู่ในสภาพแวดล้อมและมีสวัสดิภาพที่ย่ำแย่ ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยภายในฟาร์ม จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก นี่จึงเป็นต้นตอของการเกิดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา (Antimicrobial Resistance: AMR) ออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กลายเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลกในปัจจุบัน คร่าชีวิตคนทั่วโลกราว 1.2 ล้านคนต่อปี ในประเทศไทยมีการประมาณการผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึงเกือบ 40,000 คนต่อปี การเพิ่มขึ้นของเชื้อดื้อยาส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงทำลายความปลอดภัยและมั่นคงทางอาหารของเรา ดังนั้นเชื้อดื้อยาจึงเป็นปัญหาสุขภาพและปากท้องของประชาชนที่ต้องมีการควบคุมและป้องกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นตอ ทั้งในระดับชาติ และระดับพื้นที่ นอกจากนี้ห่วงโซ่การผลิตอาหารสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมยังเป็นรากเหง้าของปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบันอีกด้วย”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และเครือข่าย เห็นถึงช่องโหว่ในเชิงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 เพื่อให้พรรคการเมืองที่จะกลายเป็นรัฐบาลในอนาคตอันใกล้ได้พิจารณาถึงนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์ และคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนในประเทศไปพร้อมกัน
1. สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ…. ฉบับภาคประชาชน โดยบรรจุเป็นนโยบายพรรคการเมืองหรือสนับสนุนการพิจารณาร่างดังกล่าวผ่านสภาฯ ซึ่งมีเนื้อหายุติความโหดร้ายทารุณต่อช้างไทย ลดความซับซ้อนทางกฎหมาย และยกระดับมาตรฐานปางช้างทั่วประเทศให้ปราศจากความโหดร้ายทารุณอย่างแท้จริงผ่านรูปแบบการจัดตั้งกองทุนแห่งชาติ นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้างและเป็นธรรมกับผู้คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
2. เร่งจัดทำนโยบายเพื่อยุติการผูกขาดของระบบอุตสาหกรรมอาหารจากทุนขนาดใหญ่ ยุติการขยายตัวของฟาร์มอุตสาหกรรมในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการผลิตและการบริโภคโปรตีนจากพืชควบคู่ไปด้วย โดยให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ การยกระดับฟาร์มที่มีอยู่ให้มีสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยที่สูงขึ้น มีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรและฟาร์มทางเลือกที่มีวิธีการเลี้ยงที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์และสร้างความยั่งยืน ตลอดจนมีมาตราการเชิงนโยบายต่อภาคธุรกิจให้มีนโยบายการจัดซื้อพืชเชิงเดี่ยวที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืนโดยไม่ทำลายป่าหรือการเผาซากทางการเกษตร เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนาคต
3. พัฒนากลไกและกฎหมาย เพื่อเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาระบบการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ ตลอดจนพัฒนา ปรับปรุง และบังคับใช้กฎหมายควบคุมการขายยาปฏิชีวนะที่เข้มงวดมากขึ้น
4. สร้างภาคีพันธมิตรและให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมด้านสวัสดิภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกำหนดนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม
5. ยกเลิกการนำสัตว์มาใช้ในโครงการรณรงค์หาเสียงรวมถึงกิจกรรมต่างๆของพรรค เช่น การขี่ช้างหาเสียง นั่งงาช้างหาเสียง ขี่ม้าหาเสียง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนในการปกป้องสวัสดิภาพสัตว์จากนโยบายสู่การปฎิบัติและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคม
ติดตามฟังวิสัยทัศน์และนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ของทั้ง 6 พรรคการเมืองได้ที่นี่ link https://www.facebook.com/WorldAnimalProtectionThailand และ https://youtube.com/@WorldAnimalProtectionThailand
* ศึกษาเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ. ช้างไทย https://www.worldanimalprotection.or.th/Elephant-Bill